ก่อนหน้านี้ นักวิจัยของสหรัฐ ฟิลิปปินส์ และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ซึ่งติดตามผลกระทบจากอุณหภูมิ ที่มีต่อการเพาะปลูกข้าว ซึ่งอาศัยระบบการชลประทาน ระหว่างปี 2537-2542 ในพื้นที่เพาะปลูก 227 แห่ง ในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งผลิตข้าวในสัดส่วน 90% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง คืออุณหภูมิต่ำสุดของแต่ละวันที่ปรับตัวสูงขึ้น หรืออุณหภูมิในเวลากลางคืนที่สูงขึ้น
กรุงเทพธุรกิจ สำรวจแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรจากกลุ่มสินค้าต่างๆ ของไทย โดยรวมพบว่าปีนี้ต่อเนื่องจะเป็นปีทองสำหรับสินค้าเกษตรหลายๆ ชนิดเนื่องจากมีราคาสูงขึ้น ตามความต้องการในตลาดโลก นาชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าว กล่าวว่า ปี 2554 มีความเป็นไปได้ที่ราคาส่งออกข้าวไทยจะสูงขึ้นเกินกว่า 400 ดอลลาร์ต่อตัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 380 ดอลลาร์ต่อตัน
ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการข้าวของโลกเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผลผลิตของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ขณะที่สต็อกข้าวของรัฐเริ่มทยอยออกสู่ตลาด จึงไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันให้ราคาในประเทศลดลง
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวปลายปีจะอ่อนตัวเล็กน้อยจากปัจจุบัน ส่วนราคาส่งออกขณะนี้ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยราคาข้าวของไทยห่างจากเวียดนามเพียงตันละ 20 ดอลลาร์เท่านั้น เนื่องจากราคาข้าวของเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น และยังมีปัจจัยคู่แข่งอื่นๆ ไม่มีข้าวจะขาย แต่คำสั่งซื้อก็ยังมีไม่มาก เพราะผู้ซื้อต่างประเทศยังรอดูสถานการณ์ จนกว่าราคาจะนิ่งก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ
"ตลาดเรียนรู้แล้วว่าไม่ควรโหมซื้อตามทิศทางราคา แต่จะเน้นแบบค่อยๆ ซื้อเพราะเคยมีประสบการณ์ เมื่อข้าวราคาแพง แต่ถึงจุดหนึ่งราคาก็จะลดลง เชื่อว่าปลายปีคำสั่งซื้อจะเริ่มเข้ามา โดยเฉพาะช่วงเดือน ต.ค.นี้ที่คำสั่งซื้อจะเข้ามา"
นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 9 ล้านตัน เนื่องจากภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ปาล์มส่วนใหญ่ติดผล ส่วนราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงของสต็อกที่มีอยู่เกือบ 2 แสนตัน และราคาน้ำมันโลกแนวโน้มปรับตัวลดลงก็ตาม
ทั้งนี้เป็นผลมาจากที่ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติ ส่งผลให้ความต้องการอาหารมากขึ้น ประกอบกับมาเลเซีย ผู้ผลิตรายใหญ่ลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากเป็นช่วงถือศีลอด ทำให้ผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 27 บาท จากเดิมราคาเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 22-25 บาท
สถานการณ์ราคาดังกล่าวจะดีขึ้นจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนปี 2554 ราคาว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องดูผลผลิตของมาเลเซีย ก่อนว่าจะออกสู่ตลาดมากน้อยเพียงใด แต่จากกระแสความต้องการของตลาดโลกที่มีมากขึ้นคาดว่าราคาจะไม่ลดลงแน่นอน
ขณะที่ นายเสรี เด่นวรลักษณ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ทิศทางราคามันสำปะหลังปลายปีนี้จะดีต่อเนื่อง เพราะปริมาณผลผลิตปีนี้ไม่พอต่อความต้องการ โดยหัวมันสดที่มีอยู่จะป้อนกำลังผลิตของโรงแป้งมันได้เพียงครึ่งเดียว ผลผลิตมีน้อยทำให้ไม่มีของให้ผู้ซื้อ บางรายต้องเปลี่ยนไปใช้ข้าวโพดแทนแป้งมัน หรือนำเข้าจาก เวียดนาม อินโดนีเซียแทน
"ผมว่าหัวมันสดปลายปีนี้จะสูงกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท แน่นอนเป็นราคาที่ดีที่สุดในรอบ 40 ปี" นายเสรี กล่าวและว่า ในส่วนของแป้งมันจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 15.50 บาท หรืออาจสูงไปถึง 19 บาท ส่วนราคาส่งออก (เอฟโอบี) อยู่ที่ตันละ 520 ดอลลาร์ หรืออาจสูงไปถึง ตันละ 580 ดอลลาร์ มันเส้น คุณภาพดี ราคาในประเทศอยู่ที่กิโลกรัมละ 6-7 บาท ราคาส่งออกประมาณตันละ 180-187 ดอลลาร์ ส่วนตลาดส่งออกที่ยังมีความต้องการต่อเนื่องอยู่คือ มันเส้น จีน ส่วนแป้งมัน จะเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การผลิตมันสำปะหลังในปี 2553/2554 ยังจะมีปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งอีกครั้ง จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ซึ่งวิธีการใช้แตนเบียนของกรมวิชาการเกษตรน่าจะส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น แทนการใช้สารเคมีที่เกษตรกรบางรายยังใช้ไม่ถูกต้อง รวมทั้งเกษตรกรควรชาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนปลูกซึ่งจะทำให้ลดการระบาดของเพลี้ยแป้งได้
เ
ช่นเดียวกับ นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางพาราตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาราคาปรับสูงขึ้นมาตลอด ว่า "ผมว่าเป็นปีทองของเกษตรกร และของประเทศไทยที่ราคายางสูงเป็นประวัติการณ์" โดยเฉพาะตลาด AFET ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 132 บาท แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 106-107 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศมีสูง ขณะที่ผลผลิตมีไม่มาก
ผลจากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีเกษตรกรหันมาปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ส่งผลกล้ายางขาดแคลน ราคากล้ายางจึงปรับตัวสูงขึ้นมากปีก่อนราคาอยู่ที่ต้นละ 12-14 บาท แต่ปีนี้ราคาสูงมากอยู่ที่ต้นละ 30-45 บาท
นายหลักชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นมาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติทั้งจากประเทศจีน อินเดีย สหรัฐ และยุโรปเพิ่มขึ้น "เชื่อว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ ปีหน้าราคายางน่าจะปรับตัวสูงขึ้น" แต่ขณะนี้เริ่มมีผู้ซื้อสั่งซื้อยางเข้าสต็อกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกรงว่าช่วงเดือน ต.ค.นี้ จะมีการเพิ่มอัตราเก็บเงินสงเคราะห์ (Cess) เข้ากองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางคาดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท
ส่วนสถานการณ์ราคายางพาราปี 2554 ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้มากนัก เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกช่วงปลายปีนี้ก่อน แต่โดยรวมเชื่อราคาจะไม่ลดลงแน่นอน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|