นส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยกำลัง ตกอยู่ในอันตราย โดยความเสียหายที่เกิดขึ้น คือพบว่าขณะนี้ มีข้าวไทยปนเปื้อน ข้าวตัดต่อพันธุกรรมหือ จีเอ็มโอ โดยเป็นการพบ ก่อนหน้าที่จะมีการจัดประชุมผู้ส่งออกข้าวโลก TRT World Rice Conference ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากมีการปนเปื้อนข้าวจีเอ็มโอเกิดขึ้นในประเทศไทย อุตสาหกรรมข้าวไทยจะเสียหายถึง 96,327 ล้านบาท หรือราว 2,031 ล้านยูโร ซึ่งคิดเป็น 56 % ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2552 กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ปกป้องเศรษฐกิจข้าวไทย ย้ำให้มีกฎหมายที่ชัดเจนที่ห้ามการทดลองข้าวจีเอ็มโอทุกรูปแบบ ทั้งในห้องปฏิบัติการและในระดับไร่นา
“ผลการศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังในการปกป้องข้าวไทยให้ปลอดจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ข้าวไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอ ทั้งรัฐบาลและอุตสาหกรรมข้าวไทยจะถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่างๆที่ล้วนแล้วแต่มีต้นทุนในการดำเนินการที่สูงลิบเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการปนเปื้อนจีเอ็มโอนั้นได้ถูกกำจัดจนหมดสิ้นและอุตสาหกรรมค้าข้าวของไทยปลอดจีเอ็มโอทั้งระบบ กระบวนการเหล่านั้นอาจรวมถึงการออกมาตรการด้านการทดสอบเมล็ดพันธุ์ การสุ่มตรวจเมล็ดพันธุ์ปลอดจีเอ็มโอ การออกใบรับรองแก่ผู้ผลิตข้าว การบังคับใช้มาตรการต่างๆเพื่อให้ความรู้กับผู้ผลิตข้าว และการออกคำสั่งห้ามใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ เป็นต้น” นส.ณัฐวิภา กล่าว
นส.ณัฐวิภา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เหตุการณ์การปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอ LL601 จะสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรชาวอเมริกันและอุตสาหกรรมข้าวในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าสูงถึง 48,587 ล้านบาท หรือ 1,024 ล้านยูโร แต่ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเคมีเกษตรยังคงพยายามผลักดันให้ทั่วโลกยอมอนุมัติข้าวจีเอ็มโอ ถือเป็นความพยายามเปิดโอกาสให้การปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีก
ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกจำเป็นที่จะต้องกังวลในเรื่องนี้ โดยกรีนพีซจัดทำรายงาน
“อุตสาหกรรมข้าวไทยตกอยู่ในอันตราย: ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อข้าวไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอ” เพื่อเน้นย้ำถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอในอุตสาหกรรมข้าวไทย การศึกษานี้ได้ใช้เหตุการณ์การปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอ LL601 ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2549 รวมถึงเหตุการณ์การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในที่อื่นๆ เป็นตัวอ้างอิง
ในรายงานฉบับนี้ยังได้ระบุถึงเหตุการณ์การสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้หากใช้เหตุการณ์การปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอ LL601 เป็นตัวอ้างอิง นั้นคือปริมาณการส่งออกข้าวทั้งในระยะสั้นและระยะยาวลดลง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบและจำแนกข้าวจีเอ็มโอออกจากระบบการค้าและการแปรรูปข้าว นั่นหมายถึงมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจและความเสียหายอื่นๆสูงถึง 96,327 ล้านบาท หรือ 2,031 ล้านยูโร ซึ่งมูลค่าความเสียหายดังกล่าวได้รวมความสูญเสียต่อการส่งออกครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี คิดเป็นร้อยละ 56 ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2549
“ข้าวเป็นพืชที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การนำข้าวจีเอ็มโอเข้ามาในภูมิภาคนี้ หรือในประเทศไทย จะทำลายทั้งอุตสาหกรรมการส่งออกข้าวไทยและเกษตรกรรมในประเทศ ประเทศไทยจะต้องไม่เปิดรับข้าวจีเอ็มโอเข้าสู่ประเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองในพื้นที่เปิด การนำเข้าข้าวจีเอ็มโอจากต่างประเทศ และการปลูกข้าวจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ควรมีมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดูแลระบบการเฝ้าระวังพืชจีเอ็มโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาข้าวจีเอ็มโอในแถบประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการร่วมมือกับประเทศคู่ค้าข้าวในต่างประเทศ” นางสาวณัฐวิภากล่าวเสริม
ที่มา โพสต์ทูเดย์
|