นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้ทำหนังสือถึงนายไตรรงค์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อให้พิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน ที่จำนำข้าวเปลือกหอมมะลิโดยเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของตนเอง ราคารับจำนำตันละ 15,300 บาท รัฐมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรจำนำในยุ้งฉางของตนเองโดยจ่ายเพิ่มให้อีกตันละ 1,000 บาท เป็นตันละ 16,300 บาท แต่ปรากฏว่าวันที่ 30 มิถุนายน ศกนี้จะครบกำหนดไถ่ถอนข้าวทุกสัญญาแล้ว ราคาข้าวในท้องตลาดกลับร่วงลงเหลือตันละ 12,000-13,000 บาท หากชาวนาไถ่ถอนจะขาดทุนตันละ 3,300-4,300 บาท
ดังนั้นจึงได้เสนอให้พิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ โดยหากเกษตรกรนำข้าวไปขายในราคาตลาดปัจจุบันซึ่งราคาต่ำกว่าราคารับจำนำ รัฐบาลควรชดเชยส่วนต่างให้กับธ.ก.ส.แทนเกษตรกร เพราะเกษตรกรกลุ่มนี้มีส่วนช่วยเก็บข้าวเปลือกหอมมะลิช่วงต้นฤดูไม่นำออกมาขายทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ตกต่ำลง จนรัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ เมื่อพวกเขาเดือดร้อนอีกทั้งยังไม่เคยได้รับเงินชดเชยประกันรายได้ เมื่อต้องไถ่ถอนข้าวเปลือกในราคาที่ขาดทุน รัฐบาลควรชำระส่วนต่างแก่ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร
ด้านแหล่งข่าวในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ระบุว่าขณะนี้ธ.ก.ส.กำลังเร่งสำรวจปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรจำนำโดยเก็บไว้ในยุ้งฉางของตนเอง เนื่องจากการจำนำของเกษตรกรปีนี้ต่างจากปีก่อนๆ เพราะเกษตรกรจำนำเต็มปริมาณข้าวเปลือกที่มีอยู่ในยุ้งฉางแต่รับเงินกู้ไม่เต็มจำนวน เช่นจำนำ 10 ตัน ซึ่งชาวนาจะได้รับเงินกู้ 163,000 บาท เป็นต้น แต่ชาวนารับเงินกู้ไปเพียง 30,000 บาท เพราะชาวนาไม่ต้องการเป็นหนี้ เท่ากับชาวนาจะนำเงินมาไถ่ถอนเพียง 30,000 บาท ดังนั้นปริมาณข้าวที่เหลือจึงมีทั้งส่วนของชาวนาและส่วนที่ชาวนาต้องมาไถ่ถอน โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางของเกษตรกร ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินกู้ไปทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาท ขณะนี้เกษตรกรไถ่ถอนไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ยังคงเหลือ 2,500 ล้านบาท
ขณะที่แหล่งข่าวผู้ประกอบการโรงสีรายหนึ่ง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่าภาวะราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตกต่ำขณะไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น โรงสีเกือบทุกแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน เพราะได้ซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิมาเก็บไว้ในสต๊อกที่ตันละ 15,000 บาท แต่เวลานี้ราคาลงเหลือตันละ 12,000 บาท ขาดทุนตันละ 3,000 บาท เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงน่าจะมีมาตรการยกระดับราคาข้าวหอมมะลิทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร เพราะตลาดข้าวสารหอมมะลิเงียบเหงามาก ผู้ส่งออกแจ้งซื้อข้าวสารเพียงกก.ละ 26-27 บาทเท่านั้น
แหล่งข่าวในที่ประชุมกขช.วันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา เปิดเผยว่ายังไม่มีเรื่องเสนอให้พิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางเข้าสู่ที่ประชุมกขช.ในวันดังกล่าว
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|