นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ย.เท่ากับ 158.93 เพิ่มขึ้น 26.70% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ในภาพรวมยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น คือ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา
ส่วนราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง คือ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ลองกอง สับปะรด สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ โดยในส่วนของราคาข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง ลดลงเนื่องจากฝนตกในแหล่งผลิตทำให้คุณภาพลดลง ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และลองกอง ราคาปรับตัวลดลง เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และสุกรราคาลดลง เนื่องจากมีการขยายการผลิตสุกรเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ดัชนีราคาเกษตรเดือน ก.ย.เทียบกับเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาสูงขึ้น 0.41%
สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เดือน ก.ย. พบว่าอยู่ที่ระดับ 80.37 ลดลง 0.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้น 1.02% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
ส่วนเดือน ต.ค. 2553 คาดการณ์ว่าราคาสินค้าสำคัญส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปี และมันสำปะหลัง ที่แนวโน้มราคาจะปรับตัวลดลง จากผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น
"สถานการณ์ของเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงต้นเดือน ต.ค. คาดว่าจะทำให้การส่งออกและราคาสินค้าเกษตรชะลอตัวลง ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรติดตามสถานการณ์ผลกระทบของค่าเงินบาทต่อสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องแล้ว"
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.ย. ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบแล้ว ในส่วนของข้าวที่ราคาควรจะเพิ่มมากกว่าตันละ 9,000 บาท กลับปรับตัวลดลง รวมทั้งสินค้าปศุสัตว์ ไข่ไก่ และกุ้งที่ราคาช่วงนี้ปรับตัวลดลง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|