นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นัดพิเศษเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายไตรรงค์ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม กขช.มีมติให้กระทรวงพาณิชย์เปิดประมูลข้าว 3.75 แสนตันให้เอกชน หลังจากที่ยกเลิกการประมูลก่อนหน้านี้ เพราะได้ราคาต่ำเกินไป
ทั้งนี้สาเหตุที่ กขช.สั่งให้เร่งระบายข้าวจำนวนนี้ เพราะหากไม่รีบระบายอีก 2 เดือนข้างหน้า ข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาด ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวได้ โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องขายข้าวให้ได้ตามราคาตลาด ขณะที่ กขช.ยังมีมติให้คณะกรรมการพิเศษทำหน้าที่จำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลที่เก็บไว้นานเกิน 5 ปี ซึ่งมีจำนวนกว่า 9 พันตัน เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์
“เรายังได้รับทราบตัวเลขทางวิชาการว่า ข้าวที่เก็บไว้ 5 ปี จะมีเหลือมูลค่าเพียง 40% เท่านั้น ซึ่งเรามีข้าวที่เก็บไว้นาน 5 ปีกว่า 9 พันตัน เราจะเร่งระบายข้าวส่วนนี้ไปก่อน โดยจะขายเป็นอาหารสัตว์ และถ้าเก็บไว้นานกว่านี้ข้าวจะกลายเป็นผงและไม่มีราคา ขณะที่ข้าวที่เก็บไว้ 1 ปีนั้นค่าเสื่อมจะอยู่ที่ 5% และถ้าเก็บไว้ 2 ปีจะมีค่าเสื่อม 15% แต่การคิดค่าเสื่อมนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาไปใช้เพื่อลดราคาให้พ่อค้า แต่เราต้องการทราบเพียงว่าหากเก็บข้าวไว้นานรัฐบาลจะเสียหายเท่าไหร่ ส่วนพ่อค้าเขาก็รู้กันว่าข้าวที่เก็บไว้นานแต่ละปี จะมีราคาเท่าไหร่” นายไตรรงค์ กล่าว
นายไตรรงค์ ระบุว่า สำหรับข้าวที่เหลืออยู่ในสต็อกนั้น ซึ่งรัฐบาลจะเปิดประมูลในงวดต่อไปนั้น ตนยังยืนยันหลักเกณฑ์เดิมว่าผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะต้องเป็นผู้ซื้อขายข้าวในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) มาก่อน และการเปิดประมูลแต่ละล็อต ต้องพิจารณาไม่ให้กระทบต่อราคาในตลาดโลก ซึ่งแต่ละปีทั่วโลกมีการซื้อขายข้าว 30 ล้านตัน ไทยมีข้าวในสต็อกเกือบ 6 ล้านตันหรือคิดเป็น 20% หากระบายรวดเดียว ราคาข้าวจะตกต่ำทั่วโลก ซึ่งทำให้ชาวนาขายข้าวได้ต่ำลง และทำให้รัฐบาลต้องมีภาระในการจ่ายเงินชดเชย ส่วนต่างในโครงการประกันรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย โดยนำภาษีของคนที่ไม่ใช่ชาวนามาจ่าย โดยรัฐบาลต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง
"ขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกยังดีอยู่ และแนวโน้มราคาข้าวจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลผลิตข้าวโลกได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่ผมไม่รู้ว่าราคาข้าวจะดีไปนานถึงเมื่อไหร่" นายไตรรงค์ กล่าว
นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า กขช.หารือถึงกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล 6 ล้านตัน ซึ่งยังคงกำหนดไว้ที่ 4 แนวทางเช่นเดิม คือ การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) การเปิดประมูลให้ผู้ซื้อทั่วไปเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด การจำหน่ายผ่านตลาดเอเฟท และการจำหน่ายหน่วยงานรัฐและองค์กรสาธารณะกุศล แต่มีการปรับปรุงรายละเอียดเล็กน้อย ขณะที่การบ้านที่นายไตรรงค์มอบหมายให้ไปคิดในเรื่องค่าเสื่อมราคาข้าวก็ได้กรอบที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคำนวณราคาขายข้าวในแต่ละล็อตให้สอดคล้องกับราคาในตลาด และใช้ต่อรองราคากับเอกชนได้ ส่วนการระบายข้าวในสต็อกจะระบายเมื่อไหร่นั้น ไม่สามารถรายละเอียดเปิดเผยได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาข้าวมีทิศทางที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นตลาดของผู้ขาย เพราะปัญหาความแห้งแล้ง เนื่องจากภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติในหลายประเทศ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเร่งระบายข้าว น่าจะเป็นช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ เพราะเป็นช่วงก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปรัง จะทยอยออกสู่ตลาด
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า กขช.เห็นชอบกรอบวงเงิน 8.98 พันล้านบาท จากงบไทยเข้มแข็งที่ได้กันเงินไว้กว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างราคาประกันสินค้าเกษตร ส่วนนี้เป็นเงินที่เหลือจากประกันรายได้รอบแรก
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ กรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า กขช.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการระบายข้าวในตลาดเอเฟท 3 แสนตัน แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 2 หมื่นตัน และข้าวเจ้า 5% จำนวน 2.7 แสนตัน จากเดิมที่จะสิ้นสุดโครงการในเดือนมี.ค.ออกไปเป็นเดือนธ.ค.2553 ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้สรุปกรอบเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าเสื่อม ราคาข้าวสารสารที่เก็บไว้ในสต็อก ซึ่งในฐานะที่เป็นตัวแทนภาคเอกชน ตนมองว่าข้าวที่เก็บไว้นาน 1 ปี ไม่น่าจะมีค่าเสื่อมราคา และถือว่าเป็นข้าวระดับพรีเมียมด้วยซ้ำไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |