www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ไทยต่อรองปินส์ยืนชดเชยเพิ่มหอมมะลิ 5 หมื่นตัน


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมรัฐมนตรีการค้าอาเซียนซึ่งจะจัดประชุมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยว่า จะมีการหารือกับประเทศฟิลิปปินส์ถึงกรณีการปฏิบัติตามพันธกรณีในการลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบการค้าอาเซียน (AFTA) ที่ฟิลิปปินส์กำหนดให้ข้าวกับน้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหว

และจะต้องแลกกับการชดเชยโควตา นำเข้าข้าวให้ไทยแบบปลอดภาษีปีละ 367,000 ตัน รวมทั้งจะเปิดเจรจาอัตราการชดเชยการไม่ลดภาษีน้ำตาลทรายของฟิลิปปินส์ตามกรอบ AFTA ด้วย โดยหลังจากเจรจาโควตาแล้ว ทางกรมการค้า ต่างประเทศ และหน่วยงานจัดซื้อข้าวจากฟิลิปปินส์ (NFA) จะเป็นหน่วยงานทำหน้าที่จัดสรรโควตาให้เป็นไปตามความตกลง ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน

อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะทำให้การส่งออกข้าวขับเคลื่อนไปได้ ไทยจะต้องปรับตัวเตรียมความพร้อมภายในประเทศตั้งแต่การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตไปจนถึงการส่งออก

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า แม้ว่าท่าทีของฝ่ายไทยในการขอให้ฟิลิปปินส์ เพิ่มสัดส่วนโควตาข้าวหอมมะลิ 50,000 ตัน เพื่อหวังจะเปิดตลาดข้าวคุณภาพดีไปยังตลาดฟิลิปปินส์จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่การจะใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องการเจรจาต่อรองเรื่องราคา แม้ว่าจะได้โควตาข้าวคุณภาพดีแต่อาจจะส่งออกไม่ได้ เพราะตามปกติฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำกว่าจากเวียดนาม ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าไทยตันละ 100 เหรียญสหรัฐ เมื่อ NFA นำเข้าก็จะไปจำหน่ายให้กับประชาชนราคาถูก ทำให้ไทยต้อง แข่งขันราคาข้าวกับเวียดนามซึ่งต่ำกว่าข้าวไทยมาก เพราะไทยมีการตั้งราคาประกันข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในปี 2552 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวสาร 2 ล้านตัน โดย ส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพต่ำซึ่งนำเข้าจากเวียดนามเป็นหลัก ส่วนชนิดข้าวนำเข้าจากไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าวขาว 25% ปริมาณ 68,000 ตัน มูลค่า 1,039 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ข้าวเหนียว 10% ปริมาณ 52,000 ตัน มูลค่า 792 ล้านบาท ข้าวหอมมะลิ 15% ปริมาณ 7,100 ตัน มูลค่า 190 ล้านบาท ข้าวนึ่ง 6,700 ตัน มูลค่า 100 ล้านบาท และข้าวขาวปทุมธานี 100% ชั้น 2 ปริมาณ 4,200 ตัน มูลค่า 95 ล้านบาท

"นอกจากเรื่องชนิดของข้าวที่เป็นข้าวคุณภาพต่ำแล้ว ในข้าวบางชนิดก็มีผู้ส่งออกเพียงไม่กี่ราย ซึ่งเท่ากับจะกลายเป็นประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกไม่กี่ราย เช่น ข้าวนึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีเพียงบริษัท 1-2 รายที่ส่งออก ได้แก่ บริษัทไชยพร ค้าข้าว กับบริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ ส่วนข้าวหอมมะลิ 15% ก็มีเพียง บจ.โรงสีไชยอุดมสุรินทร์เพียงรายเดียว ส่วนข้าวที่มี ผู้ส่งออกในตลาดอย่างมากก็มีเพียง 2 ชนิด คือ ข้าวขาว 25% และข้าวเหนียว 10% เท่านั้น แต่ข้าวทั้งสองชนิดก็อาจจะไม่ได้โควตาปลอดภาษีก็ได้" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับรายชื่อผู้ส่งออกข้าวขาว 25% ไปตลาดฟิลิปปินส์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2550-2552) สำคัญ ๆ 5 รายแรก ได้แก่ บจ.เอเชียโกลเด้นไรซ์, บจ.แคปปิตัล ซีเรียลส์ในเครือบริษัทนครหลวงค้าข้าว, บจ.ไทยฟ้า (2511), บจ.ไชยพรค้าข้าว และ บจ.พงษ์ลาภ ซึ่งก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่หมุนเวียนกันอยู่ ส่วนข้าวเหนียว 10% ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน โดยผู้ส่งออกสำคัญ เช่น บจ.ป้วยเฮงล้ง, บจ.อุทัยโปรดิ้วซ์, บจ.สยามเทรดดิ้ง, บจ.ซี.พี.อินเตอร์เทรด, บจ.พงษ์ลาภ, บจ.แพท-โปร อะกริเทรด, บจ.แคปปิตัลซีเรียลส์ ในเครือนครหลวงค้าข้าว, บจ.พงษ์ลาภ และ บจ.ไทยสแตนดาร์ดไรซ์ เป็นต้น

ด้านนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะออกประกาศมาตรการนำเข้าข้าวภายใต้กรอบอาฟต้า โดยกำหนดคุณสมบัติให้นำเข้าเฉพาะปลายข้าว เพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมนุษย์เท่านั้น แต่ห้ามไม่ให้นำเข้าข้าวเปลือก เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมพันธุ์พืช ส่งผลให้กลุ่มโรงสีในประเทศจะต้องปรับตัวหาแนวทางการไปลงทุนประกอบธุรกิจโรงสีในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยทางสมาคมเตรียมจัดประชุมร่วมกับกลุ่มโรงสีในอาเซียนในช่วงกลางปีนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องนี้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.