นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ให้มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้ และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2553 ว่า "ธัญสิริน"
ข้าวธัญสิริน เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยอาศัยเทคนิคเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข 6 แต่มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่นาน้ำฝนในฤดูนาปี อีกทั้งข้าวที่ได้ยังมีความหอม สามารถนึ่งได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำค้างคืน
"กระทรวงวิทยาศาสตร์เตรียมนำเสนอข้อมูลผ่านคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกจากแปลงทดลอง 5,000 ไร่ ไปยังพื้นที่อื่นๆ" นายวีระชัย กล่าวและว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน ไม่ใช่วิธีการดัดแปรพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย
ด้าน ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้ คือ ลำต้นแข็งแรงทนการหักล้ม ให้ผลผลิตอยู่ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ลดเปอร์เซ็นต์ข้าวหัก โดยพื้นที่ปลูกที่เป็นเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิค สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่
ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวทนน้ำท่วม ทนเค็ม ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้ ขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดด โดยอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาในขั้นทดลองปลูกในพื้นที่จริง ก่อนแจกจ่ายเม็ดพันธุ์ให้เกษตร รวมถึงถ่ายทอดวิธีผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพที่จะขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง
ส่วนโครงการวิจัยพันธุ์ข้าวธัญสิรินดังกล่าว ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนาเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายให้กับเกษตรกรในภาคเหนือ และอีสาน นำไปเพาะปลูก
"เมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิริน นำไปทดลองปลูกในนาข้าวของเกษตรกร 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง ชัยภูมิ และสกลนคร โดยปลูกแทนข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 เดิม ในช่วงเวลา 3 ปี พบว่าสามารถลดความเสียหายในนาข้าวได้ถึง 30%" นักวิจัยไบโอเทคกล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|