แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ราคาข้าวสารในตลาดได้ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะข้าวสารหอมมะลิ 100% ปรับลดลงมากกว่าข้าวชนิดอื่น ๆ ถึงตันละ 1,600 บาท ภายในสัปดาห์เดียว จากราคา 28,300 บาท เหลือเพียง 26,700 บาท/ตัน สาเหตุที่ข้าวหอมมะลิลดลงอย่างมากนั้นเป็นเพราะขณะนี้ตลาดกำลังวิตกว่า ปริมาณข้าวหอมมะลิในตลาดอาจจะเพิ่มขึ้น หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาไถ่ถอนข้าวเปลือกหอมมะลินาปี ปีการผลิต 2552/2553 ในโครงการจำนำ ยุ้งฉางกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฏมีข้าวที่รับจำนำไว้ในสต๊อกถึง 900,000 ตันหรือคิด เป็นร้อยละ 20 ของปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลิทั้งหมด โดยที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบาย ที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการกับข้าวจำนวนนี้อย่างไร
"ขณะนี้ตลาดข้าวตกต่ำลงมาก อย่างข้าวขาว5%ลงมาที่12,400-12,500 บาท/ตัน ต่ำสุดในรอบ 8-9 ปี ข้าวหอมมะลิก็ลดลงตาม ทั้ง ๆ ที่ปัจจัยภาวะภัยแล้ง หาซื้อข้าวยาก น่าจะทำให้ราคาข้าวปรับตัวขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังไม่มีสัญญาณการปรับขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกเองก็ชะลอตัวอย่างชัดเจนอาจเป็นสาเหตุมาจากสต๊อกของ ผู้ส่งออกบวกกับสต๊อกข้าวรัฐบาลที่มีอยู่ ถึง 5-6 ล้านตัน"
อย่างไรก็ตามแม้ว่าราคาข้าวจะทรุด ต่ำลงขณะนี้แต่กลับไม่มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออก เนื่องจากทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงได้ เช่น ชาวนาขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนก็ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล เช่น ราคา ก.ก.ละ 10 บาท ขายตลาดได้เงิน 8 บาท รัฐบาลก็ชดเชยให้ 2 บาท ขณะที่ผู้ส่งออกและโรงสีเองก็ปรับตัวเมื่อซื้อข้าวราคาถูกก็ขายถูกออกไปพออยู่กันต่อไปได้ เช่น ซื้อจากเกษตรกร 8 บาท หรือลดลงมากกว่านั้น เช่น ซื้อ 6 บาท ไปขาย 10 บาท ส่วนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวที่ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเห็นพ้องกัน 7 เรื่อง อาทิ ตั้งโต๊ะรับซื้อ แลกข้าว ชดเชยดอกเบี้ย ก็ไม่มีการดำเนิน การอย่างจริงจัง โรงสีก็ไม่กล้าเข้าร่วม
"ผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยและเก็บรักษาข้าวในสต๊อกเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะข้าวขายได้ต่ำกว่ามูลค่าจริง ๆ ที่ควรจะได้ ตลาดซบเซา เช่น ควรขายได้ 10 บาท แต่จริง ๆ อาจจะได้ต่ำกว่า ผู้เสียประโยชน์โดยตรงจึงมีเพียง "รัฐบาล" ที่นอกจากได้เงินเข้าประเทศน้อยลงแล้ว ยังต้องแบกภาระจ่ายค่าชดเชยราคาข้าวให้กับเกษตรกรเพื่อปิดปากไม่ให้มีการประท้วงปิดถนน ส่วนการวางแผนระยะยาวนั้นแถบจะไม่มีการดำเนินการอะไรเลย ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้รายงานตัวเลขการส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2553 มีปริมาณ 661,897 ล้านตัน ลดลง 17.99% เมื่อเทียบกับ เดือนพฤษภาคมปี 2552 ที่เคยส่งออกได้ถึง 807,154 ล้านตัน ทำให้ยอดการส่งออกข้าว 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) 2553 มีปริมาณ 3,379,331 ล้านตัน หรือลดลง 5.15% จากช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่เคยส่งออกได้ 3,562,873 ล้านตัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้การส่งออกข้าวในปีนี้ไม่เป็น ไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 8.5 ล้านล้านตัน
ขณะที่ราคาส่งออก FOB ก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยเปรียบเทียบราคา 3 เดือนนับจากเมษายนและเดือนมิถุนายน 2553 พบว่าราคาข้าวหอมมะลิ ปี 2551/2552 ลดลงจาก 1,098 เหรียญสหรัฐ/ตัน เหลือ 1,085 เหรียญ,ข้าวหอมมะลิ ปี 2552/2553 ลดลงจาก 1,002 เหรียญ/ตัน เหลือ 941 เหรียญ/ตัน, ข้าวขาว 100% เกรด B ลดลงจาก 481 เหรียญ/ตัน เหลือ 469 เหรียญ/ตัน และข้าวขาว 5% ลดลงจาก 449 เหรียญ/ตัน เหลือ 438 เหรียญ/ตัน เป็นต้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|