นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ตรวจสอบสถานการณ์การค้าข้าวโลก ขณะนี้เวียดนามไม่มีข้าวขายแล้วจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกข้าวและสอดคล้องกับแผนระบายข้าวสต็อกรัฐ หลังดำเนินการมานานถึง 3 เดือน เบื้องต้นกำหนดการระบายหลายวิธีแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเกรงว่าจะทำให้ตลาดปั่นป่วน
ทั้งนี้ ข้าวในสต็อกรัฐที่มีอยู่ส่วนใหญ่ เป็นข้าวจากโครงการรับจำนำช่วงปี 2551-52 ซึ่งยังมีสภาพดี ส่วนข้าวเก่าตั้งแต่มี 2548 มีปริมาณไม่มากประมาณ 2-8 พันตัน ปริมาณข้าวในสต็อกรวมประมาณ 4 ล้านกว่าตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 5% ที่เหลือเป็นข้าวหอมปทุมธานี และข้าวเหนียว
“ปีนี้การส่งออกข้าวจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา เราส่งออกสูงสุด 10 ล้านตันและต่ำสุด 8.5 ล้านตัน เชื่อว่าปีนี้จะส่งออกได้ในกรอบนี้ จากการที่สต็อกจะมีการเคลื่อนไหวก่อนฤดูข้าวใหม่ออกสู่ตลาดแน่ แต่ไม่จำเป็นว่าต้องขายทั้งหมดสต็อก เพราะต้องเก็บไว้เป็นเซฟตี้ทั้งของไทยและอาเซียนด้วย” นายมนัส กล่าว
นานชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังเวียดนามมีแผนจะส่งออกประมาณ 3.2 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณน้อยกว่าช่วงครึ่งปีแรก ที่มีการส่งออกข้าวมากถึง 4 ล้านตัน จากเป้าหมายส่งออก รวม 6.5 ล้านตันในปีนี้ จึงเชื่อว่าจากนี้ไปข้าวจากเวียดนามจะออกสู่ตลาดน้อยลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทย ที่จะใช้จังหวะนี้ในการขายข้าว แต่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ตลาดได้รับผลกระทบเพราะไทยมีข้าวในสต็อกมหาศาล หากกำหนดแผนระบายครั้งละมากๆ จะทำให้ตลาดได้รับความเสียหายทันที
ทั้งนี้เชื่อว่า แม้ครึ่งปีหลังหรือประมาณ 4-5 เดือนจากนี้ ก่อนที่ข้าวนาปีจะออกสู่ตลาด เป็นช่วงเวลาในเหมาะสมในการระบายข้าวสต็อกรัฐ แต่รัฐควรระบายครั้งละ 2-3 แสนตัน และเชื่อว่าปริมาณที่ระบายได้รวมทั้งหมด 1 ล้านตันเท่านั้นจากสต็อกประมาณ 6 ล้านตัน
“ครึ่งปีหลังเวียดนามจะเล่นกับราคามากกว่าเน้นปริมาณ ดูได้จากที่ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังมีข่าวเวียดนามขายข้าวให้บังกลาเทศ 2 แสนตันและจีนสนใจซื้ออีก 6 แสนตัน แต่ภาพรวมช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและเวียดนามยังสูงอยู่ โดยข้าวข้าว 5% เวียดนามเพิ่มขึ้นจาก ตันละ 350 เป็น 390 ดอลลาร์ ข้าวไทยเพิ่มจากตันละ 450 ดอลลาร์เป็น 465 ดอลลาร์”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |