www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พม่ามาแรงส่งข้าวออกได้ 1 ล.ตัน ไทยหวั่น 5 ปีอาจเสียแชมป์ส่งออก


แม้ว่าในช่วงปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 8.57 ล้านตัน หรือเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 8.5 ล้านตัน แต่คู่แข่งอันดับรองต่างก็เพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 5.95 ล้านตัน จากปี 2551 ที่ส่งออก 4.649 ล้านตัน ปากีสถาน 3 ล้านตัน และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 3.8 ล้านตัน สหรัฐ 3.1 ล้านตัน อินเดีย 2 ล้านตัน

แต่หากพิจารณาในรายชนิดของข้าวจะพบว่าข้าวไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเฉพาะข้าวขาวได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับเวียดนาม ซึ่งมีราคาต่างกันรุนแรงถึง 100 เหรียญสหรัฐ จากอดีต ที่ห่างกันเพียง 30-40 เหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยเสียตลาดข้าวขาว 25% ซึ่งเป็นข้าวขาวคุณภาพต่ำไปเรียบร้อยแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ล่าสุดยังเกิดคู่แข่งหน้าใหม่อย่างพม่า ที่หันมาเป็นผู้ส่งออกข้าวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยปรากฏการณ์ราคาข้าวต่างกันถึง 150 เหรียญสหรัฐ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การส่งออกข้าวของพม่าในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 100% ในช่วงระยะเวลาเพียง 1-2 ปี โดยปี 2550 ปริมาณส่งออกแค่ 30,000 ตัน และปี 2551 ปริมาณ 500,000 ตัน ส่งผลให้ผู้ซื้อข้าวจากแอฟริกาให้ความสนใจข้าวจากพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะข้าวขาวที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรง เช่น ข้าวขาว 25% ของพม่า ถูกที่สุดราคาเพียง 340-350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ข้าวขาวไทยราคาสูงมากเป็นอันดับ 1 ประมาณ 490-500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ประกอบกับโบรกเกอร์ค้าข้าวได้เริ่มเข้าไปตั้งสำนักงานในพม่าแล้ว

"พม่าถือว่าเป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพมากขึ้น เพราะมีความสมบูรณ์ในพื้นที่เพาะปลูกแถบลุ่มน้ำอิรวดี ซึ่งถึงจะเล็กกว่า แต่ผลิตข้าวได้มากถึงปีละ 30 ล้านตันข้าวเปลือก หากมีคนลงทุนด้านเทคโนโลยีให้ ต่อไปพม่าอาจส่งออกข้าวขาวได้ปีละมากกว่า 1 ล้านตัน และยังมีเวียดนามที่ส่งข้าวได้อีกปีละ 5-6 ล้านตัน ขณะที่อินเดียก็มีศักยภาพในการส่งออกข้าวนึ่งได้อีก ถ้าไทยไม่ปรับตัว พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อหนีคู่แข่ง เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ไทยจะเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกอย่างแน่นอน" นายชูเกียรติกล่าว

ขณะที่อินเดีย สถานการณ์ได้เปลี่ยน แปลงไป เดิมต้องการนำเข้าข้าวไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน เพื่อไปบรรเทาผลกระทบจากจากภัยแล้งที่สร้างความเสียหายประมาณ 15-18 ล้านตัน แต่ล่าสุดอินเดียสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวสาลีมากขึ้น และมีราคาลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวในปีนี้ ไทยจึงยังคงเป้าหมายส่งออกข้าวไว้ที่ 9 ล้านตัน เพราะคาดว่าอินเดียจะยังไม่ส่งออกข้าวในปีนี้

นอกจากนี้ในส่วนของข้าวหอมมะลิ ไทยต้องแข่งขันกับข้าวหอมมะลิคุณภาพรองของเวียดนามซึ่งมีราคาต่ำกว่า 400 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ตลาดหอมมะลิของไทยอย่างสิงคโปร์หันไปนำเข้าหอมมะลิเวียดนามเพิ่มขึ้น เช่น 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2551 นำเข้าไป 517,633 ตัน จาก 72,355 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 615.40% และยังมีข้าวหอมมะลิแจสแมนของสหรัฐ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่า เพียงแต่สหรัฐไม่ได้เน้นการผลิตเพื่อส่งออกเหมือนไทย จึงไม่ได้มีการให้บริการลูกค้าเหมือนผู้ส่งออกไทย

"สำหรับแนวทางการรักษาขีดความสามารถในการส่งออกข้าว ผมมองว่าการที่รัฐบาลปรับมาใช้วิธีการประกันรายได้เกษตรกรดีกว่าการรับจำนำ แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จเพียง 70-75% ก็นับว่าน่าพอใจสำหรับปีแรก ควรปรับการดำเนินการในปีต่อไปให้ดีขึ้น ในระยะยาว หลังจากนี้ 1-2 ปี รัฐบาลต้องเร่งปรับตัว สนับสนุนการไปใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีอาเซียน (AFTA) โดยต้องดึงจุดเด่นของไทยที่เหนือกว่าในด้านการทำการตลาดและความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคทาง การค้า ความรวดเร็วในการส่งมอบข้าว ซึ่งจะช่วยให้ไทยปรับตัวเป็นศูนย์กลางเทรดดิ้งข้าวในอาเซียนได้" นายชูเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า ปริมาณการส่งออกข้าวปี 2552 ปริมาณ 8,521,726 ตัน ลดลง 14.51% จากปี 2551 ซึ่งมีปริมาณ 9,968,410 ตัน ด้านมูลค่า 171,012 ล้านบาท ลดลง 14.74% จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 200,579 ล้านบาท แต่หากแยกตามชนิดผลิตภัณฑ์ข้าวจะพบว่า การส่งออกต้นข้าวขาว มีปริมาณ 1,863,584 ตัน ลดลง 50.95% จากที่เคยส่งออก 3,799,634 ตัน ส่วนต้นข้าวหอมมะลิ มีปริมาณ 1,845,043 ตัน เพิ่มขึ้นเพียง 2.24% จากปีก่อนที่ 1,804,550 ตัน ต้นข้าวนึ่ง 2,866,005 ตัน เพิ่มขึ้น 4.32% จากปีก่อนที่ 2,747,422 ตัน และต้นข้าวหอมปทุม 186,535 ตัน ลดลง 19.46% จากปีก่อนที่ 231,614 ตัน มีเพียงต้นข้าวเหนียวที่ส่งออก 322,796 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 77.05% จากปีก่อนที่ 182,320 ตัน

ส่วนการเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 300,000 ตัน ซึ่งมีข่าวว่า จะเปิดประมูลในสัปดาห์นี้นั้น ล่าสุด นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมคณะอนุกรรมด้านการตลาด อาจจะประชุมในสัปดาห์หน้า จากเดิมที่กำหนดจะประชุมระบายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมามอบให้กระทรวงพาณิชย์ ไปกำหนดแนวทางการระบายที่ชัดเจนและปริมาณการระบายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.