นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่า ที่ประชุม กขช.เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปยกร่างกฎหมายการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวมานำเสนอในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่การดำเนินงานจะต้องพิจารณาดูความสัมพันธ์ระหว่างกองทุนสวัสดิการชาวนา กับกองทุนเงินออมแห่งชาติด้วย ซึ่งได้รับรายงานว่าคณะกฤษฎีกาได้ดำเนินการตรวจร่างเสร็จเรียบร้อย และจะมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเร็ว ๆ นี้
“หลักการในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนามีลักษณะคล้ายกับกองทุนเงินออมแห่งชาติ โดยชาวนาจะจ่ายเงินสมทบ ส่วนหนึ่งจากการขายข้าวในแต่ละปีเข้าสมทบในกองทุน และรัฐบาลจะออกเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะใช้ระบบสมัครใจของชาวนาเองไม่มีการบังคับ”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม กขช.ยังเห็นชอบให้คงราคา และปริมาณข้าวเปลือกนาปี ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรฤดูกาลผลิตปี 2553/2554 ในอัตราเดียวกับการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าต้นทุนในการปลูกข้าว และสถานการณ์ราคาข้าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมามากนัก มีเพียงองค์ประกอบอื่นที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยใช้เงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาทและได้ตั้งงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว
นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กขช.เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา มีรูปแบบคล้าย ๆ กับกองทุนสวัสดิการสังคม โดยจะทำในรูปแบบสมัครใจ โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปยกร่างกฎหมายเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พร้อมทั้งพิจารณาว่าจะสามารถร่วมกับกองทุนเงินออมแห่งชาติ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้หรือไม่ โดยการพิจารณาครั้งนี้มีการตั้งตุ๊กตา เช่น ให้ชาวนาสมทบ 3% ของรายได้จากการขายข้าวเปลือกในแต่ละปี ขณะที่รัฐสมทบ 2 เท่า แต่ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องให้กระทรวงเกษตรฯ ไปจัดทำข้อมูลโดยละเอียดเพื่อออกมาเป็น พ.ร.บ.ก่อน
สำหรับสวัสดิการของชาวนาที่ร่วมโครงการประกอบด้วยเงินบำเหน็จบำนาญ เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เงินสงเคราะห์บุตร รวมทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตโดยไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลจัดหาให้อยู่แล้ว เช่น ค่ารักษาพยาบาล โดยการบริหารกองทุนนี้จะประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ชาวนา และผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องหาวิธีบริหารจัดการกองทุนสำหรับสมาชิกบางรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น รวมทั้งกรณีที่ชาวนาบางรายที่ในบ้างครั้งก็เข้ามาอยู่ในระบบของกองทุนประกันสังคม และบางครั้งก็กลับไปทำนา
ทั้งนี้ กรณีที่รัฐบาลเห็นควรจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อต้องการให้เป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีชาวนามากถึง 3.7 ล้านครัวเรือน หรือ 15-17 ล้านคน หรือคิดเป็น 64% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด โดยในแต่ละปีสามารถปลุกข้าวได้ผลผลิตมากถึง 30 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 180,000-200,000 ล้านบาท และมีการบริโภคในประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 230,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ข้าวนับเป็นวิถีชีวิตของคนไทย และชาวนาเป็นอาชีพยากลำบาก ตากแดดตากฝน ฐานะยากจน ที่สำคัญชาวนามีอายุมากขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธการสืบทอดอาชีพชาวสวน
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ยืนราคาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประจำปีการผลิต 53/54 เท่ากับปีก่อน โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท รับประกันไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน โดยกำหนดให้ใช้ราคานี้เป็นเวลา 1 ปี จากเดิมที่คณะอนุกรรมการ กขช. เสนอให้คงไว้ 3 ปี แต่นายกฯเห็นว่าในการกำหนดราคาประกันรายได้แต่ละปีต้องคำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริง เช่นในปีนี้ที่ราคาต้นทุนไม่ต่างจากปีที่แล้ว
ที่มา สำนักข่าวไทย |