นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ประเมินราคาข้าวนาปี 2553/2554 หรือปีการค้า 2554 โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ จะอยู่ในระดับเดียวกับปีนี้ ข้าวหอมมะลิราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 13,572 บาท ข้าวเปลือก 5% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 8,472 บาท และข้าวนาปรังความชื้น 14-15 % อยู่ที่ราคาตันละ 8,252 บาท
ทั้งนี้แม้ว่าสต็อกข้าวของโลกจะลดลงและจีนมีนโยบายนำเข้าข้าว แต่ยังมีปัจจัยลบ คือ ผลผลิตข้าวในโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่อินเดีย และญี่ปุ่นมีนโยบายระบายข้าวในสต็อก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดโลก
ปี 2553/2554 คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวโลกประมาณ 459.167 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 3.74% โดยเวียดนามผลิตได้ 24.75 ล้านตันข้าวสารเพิ่มขึ้น 1.52% และไทยผลิตได้ 20.705 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 0.59% โดยจะมีปริมาณการค้าข้าวโลกรวม 31.325 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.24% คาดว่าไทยสามารถส่งออกมากที่สุด 9 ล้านตัน เวียดนาม 5.8 ล้านตัน ปากีสถาน 3.6 ล้านตัน สหรัฐ 3.47 ล้านตัน อินเดีย 2.5 ล้านตัน
ผู้นำเข้ารายใหญ่ยังเป็นฟิลิปปินส์ 2.5 ล้านตันลดลง 3.85% ไนจีเรีย 1.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.56 % อิหร่าน 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.38% อียู 1.35 ล้านตัน ทรงตัวและซาอุดีอาระเบีย 1.3 ล้านตันเพิ่มขึ้น 18.18%
นางนารีณัฐ กล่าวว่า แม้ความต้องการข้าวโลก จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร แต่ในอนาคตการค้าข้าว จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากที่จีนและเวียดนามมีนโยบายจะขยายฐานการผลิต ไปยังกลุ่มประเทศในแอฟริกา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขณะนี้จีนเข้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกา พร้อมส่งแรงงานจีนเข้าไปประมาณ 3 แสนคน
ขณะที่เวียดนามได้เข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยีการปลูกข้าวและพันธุ์ข้าวในกัมพูชา พร้อมกับวางแผนบุกตลาดข้าวคุณภาพ ทั้งในแอฟริกา ปากีสถาน และบราซิล ส่วนพม่า ลาว กัมพูชาจะเป็นผู้ส่งออกรายใหม่และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรปหรืออียู
ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าว เช่น ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อพึ่งพาตนเองและมีเป้าหมายจะเป็นผู้ส่งออกในอนาคต ส่วนฟิลิปปินส์ ได้ลงทุนโรงสีข้าวในกัมพูชา เพื่อผลิตและส่งข้าวกลับประเทศ ดังนั้นการผลิตข้าวของไทย จะต้องศึกษารูปแบบการตลาดและวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่สำคัญต้องลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด จึงจะสามารถแข่งขันได้อนาคต
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในปีหน้าคาดว่าจะทำได้ในปริมาณ 9 ล้านตัน ตามที่ กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ แต่จะต้องเกิดขึ้นภายในเงื่อนไขว่า ราคาข้าวไทยไม่สูงกว่าข้าวเวียดนามเกิน 100 ดอลลาร์ต่อตัน เหมือนต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้เงื่อนไขการส่งออกข้าวขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย โดยเฉพาะอินเดียหากยึดมั่นนโยบายห้ามส่งออกข้าวต่อเนื่องจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่ในทำนองกลับกันหากอินเดีย หันกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง ตลาดข้าวนึ่งไทยจะได้รับผลกระทบทันที จากที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ครองตลาด มีสัดส่วนส่งออกข้าวนึ่งมากกว่า 40% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด หากการส่งออกข้าวนึ่งลดลง จะกระทบยอดส่งออกรวมได้ ซึ่งตลาดสำคัญเป็นตลาดในภูมิภาคแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ที่จะระบุว่าอินเดียจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไป แม้สต็อกที่มีอยู่ 25 ล้านตัน จะเป็นแรงกดดันพอสมควร หากอินเดียมีการส่งออกจริง ไทยก็อาจต้องทบทวนเป้าหมายการส่งออกข้าวใหม่
ขณะเดียวกัน จีนก็ยังมีสัดส่วนความต้องการใกล้เคียงกับปีนี้ แต่ยอมรับว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยน้อยมาก เพราะการซื้อข้าวของจีนจะซื้อจากเวียดนามเพื่อส่งออกไปทางชายแดนมากกว่า
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ตลาดส่งออกข้าวสำคัญปี 2554 จะอยู่ที่อินโดนีเซีย ที่คาดว่ามีความต้องการข้าวอีก 4-5 แสนตันในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้าเพื่อเสริมสต็อก เบื้องต้นคาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสในการซื้อขายระบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวนหนึ่งและบางส่วนอาจจะแบ่งซื้อจากเวียดนาม
ส่วนตลาดฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีความต้องการนำเข้าข้าวประมาณ 2 ล้านตันเหมือนกับปีนี้ ซึ่งไทยอาจมีโอกาสได้มากขึ้น หากราคาข้าวไม่ห่างจากเวียดนามมาก
"ตลาดอื่นๆ ก็เช่นกัน หากราคาข้าวไทยไม่ห่างจากเวียดนาม ก็จะทำให้ไทยส่งออกไปตลาดในอาเซียนได้อีก เช่น มาเลเซีย จากเดิมที่ตลาดทั้งหมดเกือบจะเรียกได้ว่าสูญเสียไปแล้วอย่างสิ้นเชิง" นายชูเกียรติ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|