นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผลผลิตข้าวของประเทศกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ข้าวหอมเขมรเริ่มทะลักเข้ามาไทยด้านชายแดนและมีพ่อค้าหัวใสรับซื้อนำมาขายต่อที่ตลาดกรุงเทพฯแล้ว ส่วนข้าวที่ส่งเข้ามามีหลายชนิดปะปนอยู่ เท่าที่ตรวจสอบพบ มีทั้งข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมปทุมธานี และข้าวพันธุ์พื้นเมืองอีกหลายชนิด
โดยพ่อค้าเขมรจะส่งตัวอย่างบรรจุถุงเล็กๆมาให้ดู แต่บริษัทไม่กล้าซื้อ แม้กระทั่งส่งไปตรวจดีเอ็นเอ ก็ยังตรวจไม่ออก แต่หากพูดถึงความนิ่ม ความหวาน ความมันสู้ข้าวหอมมะลิ 105 ไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าพันธุ์นี้เป็นพันธุ์อะไร แต่คาดว่าไม่ใช่พันธุ์ที่ดีที่สุด ลักษณะเป็นเม็ดยาว เป็นพันธุ์พื้นเมืองของเขา หรืออาจจะเป็นข้าวปทุมธานีของไทยก็ได้ อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาพยายามจะพูดกับกลุ่มโรงสี ไม่เฉพาะแต่ภาคอีสานเท่านั้นว่าให้ระวังข้าวหอมเขมร อย่านำเข้าและส่งออก เพราะจะทำให้ภาพรวมการส่งออกเสียหาย
"ทุกวันนี้ผมไปซื้อข้าวหอมมะลิแถวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผมกลัว ผมต้องตรวจอีเอ็นเอทั้งหมด บางโรงก็ใช้ไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วการควบคุมคุณภาพจะต้องควบคุมตั้งแต่เกษตรกร โรงสี ไม่ใช่มาควบคุมแต่ผู้ส่งออกอย่างเดียว ทำให้การค้าลำบาก ที่ผ่านมาผมค้านมาตลอดว่าข้าวหอมมะลิไม่ควรเป็นมาตรฐานบังคับ ไม่ควรจะเป็นสินค้ามาตรฐาน เพราะมันตรวจสอบยาก ข้าวก็คือข้าว ต่อให้ใครมีประสบการณ์แค่ไหน ให้นำข้าวหอมปทุมธานี ข้าวหอมมะลิ แล้วผสมกัน ใครจะแยกออก ทุกวันนี้ถ้าจะให้ถูกต้องต้องตรวจสอบดีเอ็นเอ เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ต่อ 1 ตัวอย่าง"
นายเจริญ กล่าวอีกว่า แรงจูงใจที่ทำให้ข้าวหอมมะลิเขมรทะลักเข้ามาฝั่งไทย เนื่องมาจากรัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาเป็นผู้ส่งออก เลยทำให้โรงสีและผู้ส่งออกหัวใสบางกลุ่มต้องการลดต้นทุน จึงลักลอบนำข้าวหอมเขมรมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิแล้วนำออกขาย
สอดคล้องกับนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย ที่กล่าวว่า ทุกปีจะมีข้าวหอมมะลิเขมรลักลอบนำเข้าโดยผ่านโรงสีแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตันอย่างแน่นอน เพราะผลผลิตของประเทศเขมรค่อนข้างดี ราคาที่เสนอขายก็ถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยตันละ 7,000 บาท คือข้าวหอมมะลิไทยราคาตันละ 23,000 บาท ขณะที่ข้าวหอมเขมรตันละ 16,000-17,000 บาท ถือว่าเป็นการลดต้นทุนอย่างน้อย 20-30%
"ลักษณะนี้จะคล้ายกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ปี 2551 ที่มีข้าวพม่าลักลอบนำเข้ามา โดยสมัยนั้นมีแรงจูงใจด้านราคา เพราะมีโครงการรับจำนำข้าวราคาตันละ 14,000 บาท ขณะที่ข้าวพม่าราคาตันละ 4,000 บาท เช่นเดียวกันในลักษณะนี้ผู้ส่งออกกังวลว่าข้าวหอมมะลิเขมร จะมีสารตกค้างจีเอ็มโอ หากมีปลอมปนเข้าไปจะเสียชื่อเสียงข้าวหอมมะลิของไทย เพราะส่งออกในนามของข้าวไทย เนื่องจากพันธุ์เขมรที่ใช้ปลูกยอมรับเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมปทุมธานี และพันธุ์พื้นเมืองของเขมร ซึ่งพันธุ์เหล่านั้นส่วนใหญ่มาจากจีนและจีนเองก็เป็นประเทศที่ขึ้นสารตกค้างเป็นจำนวนมาก"
ด้านนายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ข้าวหอมเขมรจะลักลอบนำเข้ามาทางชายแดน แถบด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว หรือโรงเกลือ เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน หากเป็นแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณชายแดนติดกับเขมร ส่วนใหญ่จะเป็นโรงสีภาคกลางที่ลักลอบนำเข้าข้าวหอมเขมร (ข้าวเปลือก) มาให้โรงสีสีแปลงสภาพแล้วจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก แต่ส่วนใหญ่ที่นำเข้าเป็นแบบปลอมปน ผสมข้าวหลายชนิดอยู่ในกระสอบเดียวกันแล้วขายเป็นข้าวหอมเขมรก็มี
เช่นเดียวกับนายวิชัย ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงสีข้าวเจริญผล จำกัด ยอมรับว่า มีทั้งโรงสีภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่จะลักลอบนำเข้ามาเนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิเขมรถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทย สำหรับวิธีการนำข้าวหอมเขมรเข้ามานั้น จะมีตัวแทนขายข้าวเขมร ติดต่อมายังโรงสีและผู้ส่งออก ทั้งนี้การลักลอบนำเข้าจะมากจะน้อย ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่บริเวณชายแดนด้วยว่าจะเอาจริงแค่ไหนอย่างไร เนื่องจากทุกวันนี้ กฎหมายไทยยังไม่เปิดโอกาสให้นำเข้ามาได้แบบเสรี
"สาเหตุที่ข้าวเขมรมาทะลักเข้าไทย เพราะขายได้ราคาสูงกว่าผู้ส่งออกเขมรส่งออกเอง และเป็นอีกแนวทางหนึ่งทั้งผู้ส่งออกและโรงสีไทยใช้ในการลดต้นทุน เพราะได้ข้าวราคาถูกกว่าซื้อจากชาวนาไทย ดังนั้นในภาพรวมเพื่อให้การค้าข้าวไทยโลกแข่งขันกับเวียดนามได้ ในความคิดเห็นส่วนตัวรัฐบาลไทยควรจะเปิดเสรีเพื่อให้ผู้ส่งออกนำข้าวหอมมะลิเขมรส่งออก เพื่อใช้เป็นกุศโลบายให้ตลาดข้าวในเขมรมีการแข่งขันสูงขึ้น ราคาจะขยับสูงขึ้นด้วย จะทำให้เวียดนามไม่สามารถตัดราคาแข่งกับไทยเหมือนในปัจจุบันนี้ คาดว่าจะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในภาพรวมมากกว่าผลเสีย
อนึ่งรายงานจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปี 2550 กัมพูชาส่งออกข้าว 450,000 ตันเป็นอันดับ 9 ของโลก ปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ตันในปี 2551 ปีการผลิต 2552-2553 นี้ กัมพูชาผลิตข้าวได้ 7.286 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีข้าวเหลือบริโภคภายในและส่งออกได้ 3.1 ล้านตัน ปีการผลิต 2553/2554 ประมาณ 7.3 ล้านตัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|