นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติให้ระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลที่มีอยู่ขณะนี้ทั้งสิ้นประมาณ 5.6 ล้านตัน เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนข้าวฤดูใหม่จะออกสู่ตลาดแล้ว แม้ว่านโยบายแทรกแซงราคาข้าวของรัฐบาลจะเปลี่ยนจากการรับจำนำเป็นประกันรายได้แล้วก็ตาม แต่มาตรการยกระดับราคาข้าวมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเสริมประกันรายได้ เช่นการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าว ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหาสถานที่เก็บข้าว จึงจำเป็นต้องทยอยระบายสต๊อกเก่าออกเพื่อรองรับข้าวฤดูใหม่
ลดขั้นตอนระบาย:
ทั้งนี้ครม.มีนโยบายให้ลดขั้นตอนการระบายข้าว จากเดิมมีขั้นตอนเริ่มจากคณะทำงานระบายข้าว คณะอนุกรรมการระบายข้าว (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน) คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) และครม.อนุมัติ แต่ขั้นตอนใหม่ประกอบด้วยคณะทำงาน กขช.และครม.อนุมัติ โดยคณะทำงานจะทำหน้าที่กำหนดกรอบเวลาที่จะระบายข้าวแต่ละล็อต เกณฑ์ราคาที่จะระบาย เสนอกขช.และครม.เห็นชอบ หลังจากนั้นให้กระทรวงพาณิชย์นำไปดำเนินการระบายด้วยวิธีต่างๆ ตามที่คณะทำงานกำหนด และสามารถเซ็นสัญญาขายให้กับผู้ซื้อได้ทันที เพราะกรอบเวลา ราคาและวิธีการได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว
"ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งคณะทำงาน แต่ผมได้รับสัญญาณจากรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ในฐานะเป็นที่ปรึกษาท่าน ว่าผมจะต้องมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานครั้งนี้ด้วย โดยอาจจะต้องทำหน้าที่ประธานคณะทำงาน และในฐานะที่มีประสบการณ์ทั้งการเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวมาก่อน คลุกคลีอยู่ในแวดวงการค้าข้าวมานาน ผมพร้อมที่จะเสนอวิธีการระบาย"
หลายวิธีผสมผสาน:
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลครั้งนี้จะไม่ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมาเช่นเปิดประมูลขายเพียงวิธีเดียว แต่ครั้งนี้จะใช้หลากหลายวิธีผสมผสานกัน อาทิ การเปิดประมูลขาย การเปิดให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้ออยู่ในมือมีสิทธิ์ซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลได้ทันที ซึ่งคำสั่งซื้อนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นข้าวชนิดเดียวกับข้าวในสต๊อกของรัฐบาล คือข้าวขาว หากมีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งก็สามารถนำมาแลกซื้อข้าวขาวได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีคณะทำงานจะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสต๊อกข้าวรัฐบาลที่มีอยู่ทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้ทราบว่าข้าวของรัฐบาลที่ฝากไว้แต่ละโกดังมีคุณภาพข้าวอย่างไร เพื่อนำมากำหนดเกณฑ์ราคาขาย ซึ่งเกณฑ์ราคาขายจะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 7-10 วัน และแนวโน้มราคาข้าวข้างหน้า โดยดูคุณภาพของข้าวแต่ละโกดังด้วย หากคณะทำงานกำหนดกรอบเวลา เกณฑ์ราคาขาย เสนอกขช.และครม.เห็นชอบแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะนำไปดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งเงื่อนของเวลาและเกณฑ์ราคา
ตั้งเป้าขายอิหร่าน 1 ล้านตัน:
ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านอกเหนือจากการขายข้าวด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว มีความสนใจที่จะเจรจาขายข้าวให้กับประเทศอิหร่าน เพราะอิหร่านมีความต้องการนำเข้าข้าวประมาณ 1 ล้านตัน แต่เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยไม่รับแอล/ซี จากประเทศอิหร่าน จึงทำให้เอกชนไทยไม่สามารถขายข้าวให้กับอิหร่านได้
"ส่วนตัวมีความคุ้นเคยกับนักธุรกิจเจ้าของโรงงานผลิตเอทานอลรายหนึ่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง จึงคิดว่าจะเจรจากับนักธุรกิจรายนี้ให้ช่วยดำเนินธุรกรรมการซื้อขายข้าวกับอิหร่านให้ โดยให้อิหร่านเปิดแอล/ซี มาที่ฮ่องกง ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังสามารถขายมันเส้นให้กับเจ้าของโรงงานเอทานอลแห่งนี้ได้อีกด้วย"
เดินหน้าประกันรายได้:
ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตรนั้น รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการประกันรายได้สำหรับพืช 3 ชนิดได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่เร็วๆ นี้ตนจะเสนอให้เพิ่มประกันรายได้ผลไม้ ลิ้นจี่ กับลำไย เพราะผลผลิตมีมากที่ผ่านมาการแก้ปัญหามักจะปล่อยให้เกษตรกรออกมาประท้วงก่อนรัฐบาลจึงจัดสรรงบลงไปแทรกแซง และกว่าจะดำเนินการแทรกแซงผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในมือพ่อค้าแล้ว จึงควรใช้วิธีประกันรายได้ช่วยเหลือเกษตรกร
นอกจากนี้จะเสนออัตราแลกข้าวใหม่กับข้าวเก่าจากเดิมกำหนดอัตรา 1:1 (ข้าวเก่า1ส่วนแลกข้าวใหม่1ส่วน) เป็นอัตรา1:1.4-1.5 (ข้าวเก่า1ส่วนแลกข้าวใหม่ 1.4-1.5 ส่วน) เพราะข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาลแม้จะต้องมีค่าขนส่งค่าปรับปรุงแต่มูลค่ายังสูงกว่าเข้าใหม่ในท้องตลาดปัจจุบัน
เห็นพ้องระบายข้าว:
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าหากรัฐบาลจะระบายข้าวในช่วงนี้ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะซัพพลายข้าวเปลือกออกสู่ตลาดน้อย และทิศทางข้าวขาขึ้นซึ่งรัฐบาลจะขาดทุนน้อยและกระทบต่อตลาดไม่มาก
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าระบายได้แต่ราคาต้องไม่ต่ำจนเกินไป เพราะข้าวเก่า 1-3 ปียังมีมูลค่า และที่สำคัญนาปรังรอบ 3 ที่ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตจะออกมาประมาณ 1 ล้านตัน ชาวนาไม่ได้รับเงินชดเชยประกันรายได้ หากขายได้ราคาต่ำชาวนากลุ่มนี้จะอยู่ไม่ได้
ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่าเห็นด้วยหากจะระบายข้าว เพราะเวลานี้ข้าวในมือชาวนามีไม่มากควรจะรีบระบายก่อนที่นาปีจะออกสู่ตลาดอีก 4-5 เดือนข้างหน้า
มาเลย์-สิงคโปร์ดอดซื้อข้าว
ขณะที่นายเชษฐ์ ตันสกุล ประธานบริษัท เอเชียอุตสาหกรรมปุ๋ยและโรงสีข้าว จำกัด ประกอบกิจการโรงสีข้าวที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสร้างประตูระบายน้ำลุ่มน้ำปากพนัง ทำให้การทำนาบริเวณลุ่มน้ำปากพนังสามารถปลูกข้าวได้ถึง 1.3 ล้านไร่ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชปลูกได้ถึง 800,000 ไร่ จากที่เคยปลูกได้เพียง 80,000-90,000 ไร่ จึงทำให้มีปริมาณข้าวเปลือกออกสู่ตลาดแต่ละฤดูจำนวนมาก
นายเชษฐ์เปิดเผยด้วยว่าขณะนี้มีข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลฝากเก็บไว้ในโกดังเอกชน 6-7 โกดังรวมปริมาณ 50,000 ตันเศษ แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องของการตลาดเพราะเวลานี้มีพ่อค้าจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์แสดงความสนใจสั่งซื้อข้าวพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นจำนวนมาก
"มีผู้แทนบริษัท ASMN อ้างว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ติดต่อมายังโรงสีของผมเพื่อขอซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ฝากเก็บอยู่ในโกดังผมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 16,000 ตัน ซึ่งผมได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลผ่านคุณนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน แจ้งว่ามาเลเซียมีความต้องการซื้อข้าวพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพราะรสชาติดี ชาวมาเลเซียนิยมบริโภค อีกทั้งระยะทางใกล้ขนส่งสะดวก โดยเขาแจ้งว่าต้องการซื้อปริมาณมากเพราะจะส่งต่อไปจำหน่ายยังประเทศกลุ่มตะวันออกกลางด้วย
นายเชษฐ์ กล่าวว่านอกเหนือจากมาเลเซียแล้ว ประเทศสิงคโปร์มีความต้องการซื้อข้าวจากพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้นายกสมาคมนำเข้าข้าวของสิงคโปร์ได้เดินทางมาเยี่ยมโรงสีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แจ้งความประสงค์ต้องการสั่งซื้อข้าวไปจำหน่ายทั้งในสิงคโปร์รวมถึงอินโดนีเซียและบรูไน แต่ติดปัญหาสินค้าผ่านแดนไทย-มาเลเซียที่สองฝ่ายนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกันได้ปีละ 30,000 ตัน ที่ผ่านมาฝ่ายไทยยอมผ่อนปรนให้มาเลเซียส่งสินค้าผ่านแดนได้มากกว่า 30,000 ตันไปจำหน่ายยังพม่า ลาว แต่สินค้าไทยที่จะผ่านแดนมาเลเซียเพื่อเข้าสิงคโปร์กลับเจอข้อจำกัด 30,000 ตัน ต้องส่งลงเรือจากท่าเรือกรุงเทพทำให้ค่าใช้จ่ายสูง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|