นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญสินค้าข้าว เปิดเผย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ยุทธศาสตร์การอุดหนุนข้าวไทย : เพื่อชาวนาหรือเพื่อใคร? " ว่า ชาวนาเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุดและมีปัญหามากที่สุด สาเหตุมาจากความยากจน ที่เป็นผลมาจากราคาข้าวตกต่ำ ทำให้รัฐบาลต้องอุดหนุนมาโดยตลอด
ที่ผ่านมามีการใช้วิธีการรับจำนำ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เงินรั่วไหลเข้าถึงเกษตรกรไม่ทั่วถึง รวมทั้งรัฐต้องรับภาระสต็อกข้าวจำนวนมาก ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการรับประกันราคา แต่ยังมีปัญหาโครงการไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
"ส่วนหนึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าโครงการที่ภาครัฐเข้าไปดำเนินการ จะไม่สามารถควบคุมได้ทั้งระบบ และวงจรข้าวยังมีการโกงกันตั้งแต่ชาวนาจนถึงผู้ส่งออก" นายสมพล กล่าว
อย่างไรก็ตามในขณะนี้เมื่อรัฐบาลเริ่มการประกันรายได้ไปแล้ว ก็ควรดำเนินการให้ถึงที่สุด ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งในส่วนของราคาอ้างอิงที่ต่างกันในแต่ละครั้งและเกษตรยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำทางรายได้ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ปัญหาการจดทะเบียนที่ยังไม่สมบูรณ์ ขาดระบบการตรวจสอบที่ดี แต่รัฐบาลไม่ควรยึดติดกับระบบนี้มาก เนื่องจากจะส่งผลให้เกษตรกร ตกอยู่ในวังวนการผลิตสินค้าเพื่อสร้างรายได้ มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพ ซึ่งจะกลายเป็นภาระรัฐบาลในที่สุด
ทั้งนี้แนวทางที่ถูกต้องรัฐบาลควรหันมาปรับปรุงพันธุ์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น พัฒนาคุณภาพให้ดีที่สุด จะทำให้ปัญหาการตลาดและราคาที่เกษตรได้รับหมด
“ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับมีผลผลิตต่อไร่ต่ำสุด เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ จึงต้องเร่งพัฒนาไม่งั้นเราจะแข่งขันไม่ได้ ในขณะที่โครงการประกันรายได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่คาดว่าจะใช้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อนำมาเฉลี่ยกับปริมาณข้าวที่ผลิตได้และรายได้จากการส่งออกแล้วไม่คุ้มกันเลย คนกินข้าวอย่างผม ต้องซื้อข้าวแพง แถมยังต้องช่วยอุดหนุนอีก แบบนี้ทุกฝ่ายก็แย่” นายสมพล กล่าว
ทีดีอาร์ไอพบ 4 ปมประกันรายได้
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การประกันรายได้เกษตรกรในปีที่ผ่านมา พบปัญหาที่เกิดขึ้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การจดทะเบียนเกษตรกร 2.ราคาอ้างอิง 3.การประกันแต่ไม่มีเบี้ยประกัน และ 4.ราคาที่สูงมากทำให้บิดเบือนได้
ในส่วนของการจดทะเบียนยังล่าช้าและคลาดเคลื่อน เนื่องจากข้าราชการมีจำนวนจำกัด ระยะเวลาการดำเนินน้อย ระบบการตรวจสอบไม่ชัดทำให้เกิดเป็นช่องทางของการคอร์รัปชันเกิดขึ้นดังนั้นเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว รัฐบาลควรใช้วิธีการลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือของเกษตรกร ที่มีใช้กันมากถึง 90% และใช้ระบบการภาพถ่ายผ่านดาวเทียม 1: 5,000 จากปัจจุบันที่รัฐบาลมีการใช้อยู่ 1:20,000 ซึ่งยังละเอียดไม่พอ
ด้านราคาอ้างอิงควรที่ประกาศทุกสัปดาห์ ควรใช้ฐานจากราคาจริงในตลาดเมื่อเกษตรกรขายข้าวแล้วให้ไปขอรับชดเชยจากรัฐบาลในสัปดาห์ที่2 เปลี่ยนจากปัจจุบันที่ใช้ราคาตลาดสหรัฐเป็นฐานเปรียบเทียบกับราคาย้อนหลัง3ปี ไม่กำหนดระยะเวลาการขายและขอเงินชดเชยของเกษตรกรทำให้มีปัญหาเรื่องการเก็งกำไรตามมา
นอกจากนี้ หากว่ามีปัญหาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องเป็นหน่วยงานหลัก ในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหา แทนการเสนอครม.และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณา ซึ่งปัจจุบัน กขช.เป็นคณะกรรมการ ที่ขาดประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง
เอกชนหนุนประกันรายได้ดีกว่าจำนำ
นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ดีกว่าการรับจำนำ ที่ทำให้รัฐบาลมีข้าวในสต็อกมากถึง 5 ล้านตัน มากกว่าผลผลิตข้าวทั้งประเทศของเวียดนาม แต่การประกันรายได้ไม่ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากจะทำให้ราคาบิดเบือนได้และเกษตรกร ไม่สนใจการพัฒนาคุณภาพ
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาในภาพรวมที่ถูกต้อง คือ การอุดหนุนโดยตรงให้กับเกษตรกร แล้วปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด เพื่อที่ผู้ประกอบการจะสามารถเสนอราคาขายที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะกับเวียดนามที่ในบางช่วงราคาข้าวไทยสูงกว่าถึงตันละ 200 ดอลลาร์
“ราคาข้าวที่บิดเบือนทำให้เราส่งออกได้ลำบาก และมักคิดเสมอว่าผู้ส่งออกเอาเปรียบ กดดันราคาในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ อย่างในขณะนี้ที่ราคาข้าวภายในประเทศปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากข้าวของเวียดนามออกสู่ตลาดมาก และราคาต่ำกว่า ไทยก็ต้องส่งออกในราคาที่ต่ำกว่าไปด้วยประมาณตันละ 400 ดอลลาร์” นายวิชัย กล่าว
ชี้นักการเมืองคุมโครงการรั่วไหล
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ ยังมีเงินรั่วไหลอยู่ในขณะนี้ เป็นผลมาจากที่การดำเนินงานยังถูกควบคุมโดยนักการเมือง และในที่สุดรัฐบาลจะถังแตก เพราะต้องจ่ายเงินไปจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมด รัฐบาลควรแยกโครงการประกันรายได้ออกไปให้หน่วยงานบริหารโดยตรง ที่ไม่มีนักการเมืองเข้าไปวุ่นวาย
นายสมศักดิ์ เอกพินิจพิทยา อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวที่ประสบผลสำเร็จ สามารถวัดผลได้จาก 2 เรื่อง เงินถึงมือเกษตรกรจริง และเกษตรกรเกิดการพัฒนาความสามารถในการทำนา ซึ่งการประกันรายได้ ในปีที่ผ่านมายังไม่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ ราคาข้าวที่สูงขึ้นมากในช่วงต้นปีเป็นผลมาจากภัยแล้ง และต่อมาเมื่อราคาข้าวตกต่ำตามความผันผวนของราคาในตลาดโลก รัฐบาลก็ไม่มีบทบาทที่จะรักษาเสถียรภาพ
“ปัจจุบันอำนาจการต่อรองราคาเป็นของผู้ซื้อจากสต็อกที่สูงมาก ผู้ประกอบการไทยแข่งกับพม่าและเวียดนามไม่ได้ เพราะต้นทุนของไทยที่สูงกว่ามาก ดังนั้นแนวทางแก้ไขต้องช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการรักษาเสถียรภาพของราคาให้สูงกว่าต้นทุนการผลิต ไม่ให้ราคาบิดเบือน มีสต็อกในปริมาณที่พอเหมาะ”นายสมศักดิ์ กล่าว
ชาวนาชี้ 2 ระบบมีทั้งดีและเสีย
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ ทั้งรับจำนำและประกันราคา มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน ซึ่งในส่วนของเกษตรกรที่นอกเขตชลประทาน จะชอบโครงการประกันรายได้ เนื่องจากชาวนากลุ่มนี้ เดิมไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ดังนั้นเมื่อมีเงินเข้าบัญชีไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ถือว่าได้ โดยที่ไม่สนใจว่าเงินจำนวนนั้นจะเป็นธรรมถูกต้องหรือไม่
ส่วนเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานภาคกลาง จะชอบโครงการรับจำนำมากกว่า เนื่องจากเมื่อขายข้าว ได้รับเงินทันที ไม่ต้องผ่านขั้นตอนดูราคาอ้างอิงที่ยุ่งยาก ซึ่งราคาอ้างอิงดังกล่าว ยังทำให้เกิดปัญหาการชดเชยที่ไม่เท่ากันและกลายเป็นบ่อเกิดของการเดินขบวนเรียกร้อง เพื่อขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล
นอกจากนี้ การจดทะเบียนเกษตรกรของรัฐบาล ยังไม่มีการตรวจสอบที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะนาเช่าที่มีมากถึง90% ถูกเจ้าของที่นาเอาเปรียบโดยเป็นผู้รับเงินชดเชยแทนเกษตรกรที่เป็นผู้ปลูกตัวจริง
“รัฐบาลจ่ายเงินจากการประกันรายได้ไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท มากกว่างบที่กำหนดไว้ 2 หมื่นล้านบาท ต้องถามว่ารัฐบาลเห็นอะไรบ้าง ข้าวสักเม็ด ก็ไม่มี ต่างจากโครงการรับจำนำที่แม้จะจ่ายเงินไปปีละ 3 หมื่นล้านบาท แต่อย่างน้อยก็ยังมีข้าวอยู่ในโกดัง ผมอยากให้รัฐบาลเก็บไปคิดข้อเปรียบเทียบนี้” นายประสิทธิ์ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|