แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผู้ส่งออกเกือบทุกรายทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงผู้ประกอบการโรงสี ได้รับการติดต่อเสนอขายข้าวจากบริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ที่ได้รับคัดเลือกให้ซื้อข้าวสต็อกรัฐบาลปริมาณ 1.1 ล้านตัน โดยมีการส่งรายชื่อคลังสินค้าให้ผู้ส่งออกและโรงสีเลือกซื้อ
ทั้งนี้ ข้าวที่เสนอขายประกอบด้วย ข้าวขาว 5% ปริมาณ 1.9 ล้านตัน ราคาขายตั้งแต่ตันละ 1.34-1.35 หมื่นบาท สูงกว่าที่เสนอซื้อจากสต็อกรัฐบาลตันละ 1.2 หมื่นบาท ข้าวเหนียว 10% ปริมาณ 1.18 แสนตัน ราคาตันละ 2.3-2.5 หมื่นบาท จากราคาที่เสนอซื้อตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวหอมปทุมธานีปริมาณ 4.9 หมื่นตัน ราคาตันละ 1.85-1.9 หมื่นบาท จากราคาที่เสนอซื้อตันละ 1.68 หมื่นบาท คาดว่าบริษัทนี้จะสามารถทำกำไรจากการขายข้าวรัฐบาล ได้เฉลี่ยตันละ 1,000 บาท โดยผู้สนใจซื้อข้าวจากบริษัทเอ็มที ต้องวางเงินค้ำประกัน 10% จากมูลค่าข้าวที่เสนอซื้อทันที เพราะบริษัทจะใช้เงินจำนวนนี้ไปวางค้ำประกัน เพื่อทำสัญญาซื้อ-ขายกับภาครัฐ ที่กำหนดวางเงินค้ำประกัน 5% ก่อนจะนำข้าวออกจากโกดังได้
รายงานข่าวล่าสุดพบว่า มีผู้ติดต่อขอซื้อข้าวมาเป็นจำนวนมาก เพราะตลาดไม่มีข้าวเหลือแล้วขณะที่ความต้องการตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยข้าวที่จะออกสู่ตลาดอีกครั้งประมาณ พ.ย. จากกระแสข่าวนี้วงการค้าข้าวตื่นตระหนกกับกระแสข่าว ทำให้มีการเสนอซื้อข้าวราคาสูงเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวขาว เสนอซื้อตันละ 1.35 หมื่นบาท จากต้นทุนที่บริษัทนี้ซื้อมาเพียงตันละ 1.2 หมื่นบาท
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า บริษัทเอ็มทีมีการร่วมทุนกับบริษัท กว่างตง เซ้งไท่ บริษัทจีน ตั้งอยู่ที่เมืองกวางเจา โดยตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทนี้เป็นเพียงผู้นำเข้ารายเล็กๆ ในประเทศจีน ซึ่งพยายามจะติดต่อนำข้าวรัฐบาลไปขายให้กับสหกรณ์เมืองเสิ่นเจิ้น แต่ยังตกลงเรื่องระบบการชำระเงินไม่ได้ เพราะจีนจะไม่ใช้วิธีเปิดแอล/ซี แต่จะใช้วิธีโอนเงินหลังรับสินค้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูงมาก
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าบริษัทที่ได้รับการอนุมัติซื้อข้าวจากรัฐบาล จะนำมาขายต่อให้กับผู้ส่งออกภายในประเทศ เพราะคณะทำงานมีขั้นตอนและวิธีการพิจารณา เนื่องจากบริษัทที่ได้รับคัดเลือก จะรับมอบข้าวต้องนำคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ มายืนยันว่ามีออเดอร์ส่งออกจริง เนื่องจากการระบายข้าวครั้งนี้เพื่อส่งออกเท่านั้น เพราะจะไม่ให้กระทบกับราคาภายในประเทศ
เบื้องต้นยืนยันว่าราคาข้าวที่อนุมัติขาย ส่วนใหญ่ราคาใกล้เคียงท้องตลาด เช่น ข้าวขาว 5% อนุมัติขายตันละ 1.2 หมื่นบาท ขณะที่ราคาตลาดตันละ 1.28 หมื่นบาท จึงเชื่อว่าการระบายครั้งนี้สามารถตอบคำถามสังคมได้ เพราะนอกจากจะระบายข้าวในสต็อก โดยไม่กระทบราคาตลาดแล้ว ยังช่วยลดภาระการดูแลรักษาข้าวในสต็อก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 720 บาท/ตัน/เดือน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|