ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากวงการค้าข้าวเข้ามาว่า ในขณะนี้ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำเนินการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลของกระทรวงพาณิชย์เข้ามามาก หลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดให้ผู้ส่งออกเสนอซื้อ ข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเพื่อการส่งออก ซึ่งมีอยู่ราว 5.6 ล้านตันอย่างเงียบ ๆ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยไม่มีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป
ล่าสุดมีข่าวเข้ามาว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ตกลงขายข้าวประมาณ 1 ล้านตันให้กับ ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เพียง 3-4 รายใหญ่ อาทิ บริษัทนครหลวงค้าข้าว, บริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์, บริษัทข้าวไชยพร และบริษัทเจียเม้ง เป็นข้าวหอมปทุมธานี ราคาตันละ 17,000 บาท, ข้าวขาว 5% บางส่วนในราคาตันละ 12,000 บาท และข้าวเหนียวในราคาตันละ 20,000 บาท โดยขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะอนุกรรมการด้านการตลาดข้าว ซึ่งมีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน "อนุมัติ" โดยมีการเรียกรับ "ค่าใช้จ่ายพิเศษ" กระสอบละ 100-150 บาท ซึ่งหากขายข้าว 300,000 ตันก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายพิเศษเป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท
"กระทรวงพาณิชย์เปิดให้ผู้ส่งออกข้าวบางรายเสนอราคาซื้อเข้ามาอย่างเงียบ ๆ บางรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการเปิดขาย อย่างนี้จะเรียกว่ารัฐบาลได้ประโยชน์อย่างไร เพราะมันไม่ได้มีการแข่งขันเสนอราคา พอรู้อีกทีก็อนุมัติขายข้าวไปแล้ว ตอนนี้เข้าใจว่าอยู่ระหว่างทำสัญญา จึงยังไม่กระทบราคาตลาด
นอกจากนี้ราคาขายยังต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อน อย่างข้าวขาวประมูล 16,000 บาท ยังไม่ขายเลย อย่างนี้ไม่ยุติธรรม ส่วนการจะให้แสดงใบออร์เดอร์ส่งออกหรือไม่ไม่สำคัญ เพราะหลักฐานแบบนี้ทำกันเองได้ง่ายมาก" แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ส่งออกข้าวทั้งรายเล็กและรายใหญ่หลายราย ซึ่งให้ข้อมูลออกมาในลักษณะแตกต่างกัน โดยบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ยืนยันว่า ไม่ทราบข่าวเรื่องการเปิดขายข้าวดังกล่าวเลย ส่วนบริษัทนครหลวงค้าข้าว ก็ตอบคำถามเพียงสั้น ๆ ว่า "ไม่ทราบข้อมูล"
ด้านนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินยุทธศาสตร์ขายข้าว โดยจะต้องไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวในตลาดและข้าวในมือเอกชน โดยต้องเร่งระบายข้าวภายในระยะเวลา 3 เดือนก่อนที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาดและเป็นช่วงที่ประเทศ คู่แข่งก็ไม่มีสินค้าเช่นเดียวกัน
"ตอนนี้เหลือ 2 เดือนถือว่ายังอยู่ในกระบวนการขายข้าว เป็นช่วงที่เหมาะสมจะขาย โดยยุทธศาสตร์การระบายข้าวมี 5 วิธี เช่น ประมูล เสนอซื้อ จีทูจีหรือบริจาค ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่ถ้าใช้วิธีประมูลตลาดมันจะเละเลย รัฐบาลไม่ต้องการให้กระทบตลาดไม่ให้กระทบข้าวในมือเอกชน ส่วนจะใช้วิธีเสนอซื้อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย
สำหรับวิธีการเสนอซื้อไม่ต่างจากการประมูล เช่น ต้องทำให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5% ต้องมีราคาเกณฑ์ การแข่งขันราคารายเล็ก-ใหญ่ ก็คงให้คน ที่มีประสิทธิภาพในการส่งออก ข้าวมันเยอะคงไม่เป็นไร แต่เราพยายามไม่ให้เป็นข่าว เพราะยิ่งปิดข่าวราคายิ่งขึ้น" นายมนัสกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกจะได้เพียง 4-5 ล้านตัน แต่หลังจากนี้มีแนวโน้มความต้องการข้าวจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ยอดส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 8-9 ล้านตันได้
โดยขณะนี้มีรัฐบาลหลายประเทศติดต่อสอบถามสนใจซื้อข้าวไทย เช่น รัฐบาลบังกลาเทศ ต้องการซื้อข้าวนึ่งปริมาณ 200,000 ตัน กำลังดำเนินการเจรจาด้านราคาอยู่ ซึ่งหากเป็นชนิดข้าวที่รัฐบาลไม่มีก็จะแลกเปลี่ยนกับข้าวของเอกชน
นอกจากนี้ยังมีฟิลิปปินส์ อิหร่าน และอิรัก ก็แสดงความสนใจเข้ามา ขณะที่ปริมาณความต้องการขายในตลาดโลกจะลดลง หลังจากเวียดนามขายข้าวหมดแล้ว 5 ล้านตัน
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในการประชุมสมาชิกสมาคมในสัปดาห์หน้าอาจจะมีสมาชิกหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือ
เพราะทางสมาคมไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดเสนอซื้อข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเหมือนกับการประมูลทุกครั้ง ดังนั้นหากสมาชิกตั้งข้อสังเกตขึ้นมาก็อาจจะทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมายังกระทรวงพาณิชย์
"หากมีการเปิดเสนอซื้อข้าวจริง แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่แจ้งข้อมูลให้ทราบทุกราย ก็จะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล เพราะไม่เกิดการแข่งขันเสนอราคาซื้อ ทั้งที่ขณะนี้เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดข้าวหลายประเทศ ผู้ผลิต เช่น ปากีสถาน จีน ประสบปัญหาอาจจะมีปริมาณลดลง และเวียดนามขายหมดแล้ว ถึงจะไม่เปิดประมูลก็ควรจะแจ้งให้ผู้ประกอบการทุกรายทราบ เพื่อจะได้มีโอกาสจะร่วมเสนอซื้อเหมือนกัน" นายชูเกียรติกล่าว
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระบายสต๊อกข้าวก่อนเดือนตุลาคม โดยผลสรุปจะเป็นอย่างไรต้องเสนอให้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีทราบก่อน คงจะต้องเร่งระบายให้ทันภายในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่ผลผลิตข้าวใหม่จะออกสู่ตลาด
"คำถามที่ว่ามีการแจ้งให้เสนอราคา ซื้อโดยไม่มีการแข่งขันนั้นโจทย์ของกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ต้องระบายข้าว ให้ได้เร็วก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออก ไม่ได้มีหน้าที่จะให้ความเป็นธรรมกับใคร ราคา ที่ได้จะเป็นไปตามเกณฑ์ที่มีอยู่ ซึ่งคำนวณจากราคาจำนำและราคาตลาด" นายยรรยงกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |