นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มไทยจะส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณ และราคา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปากีสถานผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก (รองจากไทยและเวียดนาม) ได้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากผลกระทบต่อเนื่องตามมาในขณะนี้คือ บังกลาเทศซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญของปากีสถานต้องหันมาซื้อข้าวจากเวียดนามแล้วประมาณ 200,000-300,000 ตัน และมีข่าวจะซื้อเพิ่มอีก
จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลให้เวลานี้ราคาข้าวของเวียดนามได้ปรับสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาข้าวขาว 5% จากตันละประมาณ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกทั้งระบบปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาข้าวขาว 5% ของไทยในตลาดโลกเฉลี่ยที่ 450-460 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ห่างจากราคาข้าวเวียดนามเพียง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากอดีตที่ผ่านมาราคาข้าวไทยจะสูงกว่าข้าวเวียดนามกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
นอกจากนี้เป็นผลจากอินเดียคู่แข่งขันส่งออกข้าวนึ่งรายสำคัญของไทย เดิมได้ประกาศจะส่งออกข้าวนึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่จากการที่ช่วงที่ผ่านมาอินเดียได้ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหาย ส่งผลให้อินเดียต้องล้มเลิกแผนส่งออกทำให้เป็นโอกาสในการส่งออกข้าวนึ่งของไทย โดยเวลานี้มีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งมายังผู้ส่งออกของไทยมากกว่า 350,000 ตันต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ระดับนี้ไปถึงสิ้นปี
"ทั้งปีนี้ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 8.5 ล้านตัน โดยเดือนที่เหลือของปีนี้ถือเป็นโอกาสของไทย ขณะที่เวียดนามคู่แข่งสำคัญปริมาณข้าวส่งออกเริ่มมีน้อย"
สอดคล้องกับนายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ที่กล่าวว่า ในเดือนที่เหลือของปีนี้น่าจะเป็นโอกาสทองของการส่งออกข้าวไทย โดยมีเหตุผลจากหลายปัจจัย ที่สำคัญอาทิ จากกรณีที่เกิดภัยแล้ง และคลื่นความร้อนในหลายพื้นที่ปลูกข้าวสาลีสำคัญของยุโรปทั้งสเปน โปรตุเกส อิตาลี ยูเครน บางส่วน รวมถึงรัสเซีย ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีปรับตัวสูงขึ้นมาก และส่งผลให้ราคาข้าวในภาพรวมของตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ผลจากการที่จีนได้ซื้อข้าวจากเวียดนามประมาณ 600,000 ตัน ทำให้ ณ เวลานี้เวียดนามได้เซ็นสัญญาขายข้าวให้กับต่างประเทศไปแล้วรวมมากกว่า 6 ล้านตัน ทำให้เวียดนามมีความกังวลว่าจะมีข้าวพอส่งให้ลูกค้าหรือไม่ เพราะส่วนหนึ่งเวียดนามต้องสำรองข้าวไว้บริโภคในประเทศเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร หากส่งออกมากจะทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อผู้บริโภค และจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เวียดนามต้องระมัดระวังในการส่งออก
นอกจากนี้ฟิลิปปินส์ประกาศที่จะนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 2 ล้านตัน อินเดียไม่ส่งออกข้าวเพราะต้องสำรองความมั่นคงด้านอาหาร ส่วนอินโดนีเซียที่เคยบอกว่าปีนี้ผลผลิตข้าวจะมีเพียงพอบริโภคในประเทศ แต่ล่าสุดผลผลิตไม่มากอย่างที่คิด ส่วนกัมพูชาที่ประกาศจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นยังต้องรอดูปริมาณผลผลิตในช่วงปลายปีว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ขณะที่ในแถบอเมริกาใต้ยังขาดแคลนข้าวและยังต้องนำเข้า
" ณ เวลานี้สต๊อกข้าวของโลกในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสต๊อกของประเทศผู้นำเข้าเพราะเขาได้ชะลอซื้อ หรือซื้อล็อตเล็กมาตั้งแต่ต้นปี แต่จากทุกปัจจัยที่กล่าวมาคาดว่าคำสั่งซื้อที่จะมีมายังประเทศไทยมากขึ้นในปลายเดือนสิงหาคมต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคมเพราะไทยมีข้าวในสต๊อกรัฐบาลมาก และยังมีผลผลิตใหม่ที่กำลังจะออกมาอีกขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยมองว่าจากนี้ไปราคาข้าวในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างน้อย 6-7% จากราคาเดิม จากช่วงราคาต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการส่งออกข้าวของไทยนับจากนี้ไปจะดีขึ้นๆ"
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวเปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยมีทิศทางที่ดีนั้น ทำให้เวลานี้ผู้ส่งออกของไทยต่างติดต่อขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า โดยเหตุที่หันไปซื้อสต๊อกรัฐบาลเพราะราคาถูก เนื่องจากเวลานี้ปริมาณเปลือกและข้าวสารในท้องตลาดออกสู่ตลาดน้อยลงเพราะเป็นปลายฤดูแล้วและราคาอยู่ในระดับสูง เพราะมีการแข่งขันกันซื้อระหว่างโรงสีข้าวนึ่งและโรงสีข้าวขาว โดยราคาข้าวเปลือกแห้งที่โรงสีรับซื้อปัจจุบันตันละ 8,700-9,000 บาท หากขายเป็นข้าวสารข้าวขาว 5% อยู่ที่กก.ละ 14-15 บาท หรือตันละ 14,000-15,000 บาท ขณะที่ราคาที่ผู้ส่งออกติดต่อขอซื้อข้าวจากสต๊อกรัฐบาล ข้าวขาว 5% ขอซื้อตันละประมาณ 12,000 บาท หอมปทุมธานีตันละ 17,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 20,000 บาท
แหล่งข่าวเผยเพิ่มเติมว่าเวลานี้ได้มีการเจรจาซื้อขายกันแบบเงียบๆ ระหว่างผู้ส่งออกกับรัฐบาล แต่ในข้อเท็จจริงได้มีการทยอยปล่อยออกไปแล้วหลายแสนตัน และผู้ส่งออกหลายรายได้ขนข้าวออกไปจากโกดังรับฝากสินค้าแล้ว บางรายยังไม่ได้ขนออก เพราะเจ้าของโกดังอ้างว่าเป็นช่วงเทศกาลสารทจีนขอให้ชะลอการขนออกไปก่อน
"ผู้ส่งออกส่วนใหญ่มีออร์เดอร์อยู่ในมือกันค่อนข้างมาก เช่นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศอิรักได้เปิดประมูลซื้อข้าวขาว 100% 30,000-60,000 ตัน แต่สุดท้ายซื้อมากกว่าทั้งตั้งไว้โดยซื้อมากถึง 90,000 ตัน และในจำนวนนี้บริษัทข้าวไชยพรฯ ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่รายหนึ่งของไทยสามารถชนะประมูลทั้งหมด จึงทำให้บริษัทข้าวไชยพรฯ มีความต้องการซื้อข้าวยิ่งถ้าเป็นข้าวจากสต๊อกรัฐบาลสามารถทำกำไรได้มาก เพราะเวลานี้ข้าวในท้องตลาดขยับสูงขึ้นมาก"
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ส่งออกข้าวร้องเรียนว่าทางกระทรวงได้อนุมัติขายข้าวหอมปทุมธานีในโครงการรับจำนำของรัฐบาลให้กับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่รวม 300,000 ตัน โดยผู้ส่งออกรายอื่นไม่ได้รับทราบข้อมูลการเปิดประมูลดังกล่าวทำให้ถูกมองไม่โปร่งใสว่า เป็นผลจากการที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติหรือ กขช.ได้มีแนวทางให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารที่มีตนเองเป็นประธานได้ระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลไปเรื่อยๆ แต่ที่สุดแล้วการตัดสินใจว่าจะขายหรือไม่ขายขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กขช. ว่าจะอนุมัติตามที่เสนอหรือไม่
สำหรับการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กับผู้ส่งออกจากนี้ไปจะเปิดให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศนำหลักฐานมายืนยันเพื่อเสนอประมาณ และราคาที่จะซื้อ ซึ่งผลดีคือจะไม่เป็นข่าวโด่งดัง และกระทบต่อราคาตลาดในภาพรวม
"เรื่องดังกล่าวเราได้รับนโยบายมา แต่วิธีการดังกล่าวก็ถูกมองว่าไม่โปร่งใส จากที่ผ่านมาการเปิดประมูลแบบออกประกาศเป็นการทั่วไปก็ถูกมองไม่โปร่งใส อย่างไรก็ดีขอรับรองว่าในการซื้อขายทุกครั้งเราจะเน้นเรื่องความโปร่งใส ทุกกระบวนการสามารถตรวจสอบได้ ส่วน 3-4 รายที่เป็นข่าวที่สุดแล้วก็ต้องเสนอให้รองนายกฯไตรรงค์ (สุวรรณคีรี) เคาะว่าจะขายหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่ได้อนุมัติขาย"
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานราคาข้าวสารส่งออก (เอฟโอบีราคาไม่รวมค่าขนส่ง) สัปดาห์นี้เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิ 100% ปี2552/53 สัปดาห์ที่ผ่านมาตันละ 1,008 ดอลลาร์สหรัฐฯ สัปดาห์นี้ตันละ 1,017 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวหอมปทุมธานีจากตันละ 779 ดอลลาร์สหรัฐฯ สัปดาห์นี้ตันละ 787 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวขาว100% จากตันละ 462 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 479 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวขาว5% จากตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวเหนียว10% จากตันละ 996 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 1,005 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวนึ่ง 100% จากตันละ 516 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 527 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนปริมาณการส่งออกตั้งแต่ 1 มกราคม-17 สิงหาคม 2553 ส่งออกได้ 4,978,105 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 5,431,440 ตัน ลดลง 8.35%
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |