www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

บาทแข็งหั่นเป้าส่งออกอาหารเหลือ 9%


นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "อุตสาหกรรมอาหารก้าวไกล เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง" วานนี้ (22 ก.ย.) ว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารในช่วงไตรมาส 3-4 นี้ ซึ่งเดิมสถาบันตั้งเป้าจะมีมูลค่า 8.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% แต่การที่เงินบาทแข็งค่าอาจทำให้การส่งออกอาหารปีนี้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยคาดจะมีมูลค่าส่งออก 8.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% แต่ภาพรวมยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังมีศักยภาพ แต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยต้องลดต้นทุนผลิตและปรับบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าสินค้าสูงขึ้น

ที่ผ่านมา สถาบันอาหารประเมินว่าการส่งออกอาหารไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีมูลค่า 2.12 แสนล้านบาท ขยายตัว 8% และไตรมาส 4 มีมูลค่าส่งออก 2.06 แสนล้านบาท ขยายตัว 1.8% โดยประเมินจากสมมติฐานเงินบาทที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ แต่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงกลางเดือน ก.ย. นี้ แข็งค่าไปแล้ว 7.2% แข็งค่าจากสมมติฐานเดิมเกือบ 2 บาท ทำให้สถาบันอาหารต้องปรับสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยไตรมาส 3 ใหม่เป็น 31.80 บาท และ ไตรมาส 4 เป็น 30.40 บาท ส่งผลให้การส่งออกอาหารปีนี้ต่ำจากเป้าหมายเดิม 1%

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าพบว่า สินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบดังกล่าว เป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก โดยน้ำมันปาล์ม เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากสุด เดิมคาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ 7,911 ล้านบาท แต่ประมาณการใหม่ คาดจะส่งออกได้ 7,445 ล้านบาท ลดลงจากเป้าหมาย 5.9% รองลงมาเป็น แป้งและสตาร์ช เดิมคาดส่งออก 4,286 ล้านบาท ประมาณการใหม่ คาดส่งออก 4,169 ล้านบาท ลดลงจากเป้า 2.7% และผักสดและแปรรูป เดิมคาดส่งออก 19,260 ล้านบาท ประมาณการใหม่ คาดส่งออก 18,922 ล้านบาท ลดลงจากเป้าเดิม 1.8%

"หากเงินบาทอยู่ไม่ต่ำกว่าระดับ 30 บาท เชื่อว่าธุรกิจอาหารไทยยังรับได้ แต่อาจต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารมาก เพื่อลดต้นทุนชดเชยรายได้ที่หายไปจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปกติอุตสาหกรรมอาหารมีกำไรน้อยอยู่แล้ว และมีคู่แข่งมาก ผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัว แม้ผลกระทบต่อการส่งออกปีนี้ยังไม่มาก แต่ถ้าเงินบาทยังแข็งค่าและต่ำกว่า 30 บาท จะกระทบมากขึ้น"

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยดูแลเป็น 2 ระดับ คือ ดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง และดูแลเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร เพราะไทยมีวัตถุดิบและเทคโนโลยีของตัวเอง

"รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และจัดงบประมาณให้อุตสาหกรรมอาหารนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ ทำให้ผู้ผลิตอาหารพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้น 30 ราย ซึ่งงบประมาณปี 2554 ที่มีผลเดือน ต.ค.นี้ รัฐบาลจะตั้งกองทุนสนับสนุนเงินทุนให้เอสเอ็มอี 300 ล้านบาท นำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาใช้ เพื่อนำวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม"

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.