www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ไทยยื่นจดแหล่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ คุ้มครอง"ข้าวหอมมะลิ"ในอียู


นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีไทยยื่นขอจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ในวันที่ 28 ธันวาคมนี้จะสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นขอคัดค้านประกาศการขอจด ทะเบียนจีไอของไทย หากไม่มีประเทศไทยคัดค้าน จะทำให้อียูให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งผลิต ได้แก่ในจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ

"ผลดีของการจดคุ้มครองจีไอทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจข้าวหอมมะลิที่มีแหล่งผลิตจากทุ่งกุลาร้องไห้ของไทย ว่ามีคุณภาพความหอม ซึ่งเกิดจากการปลูกในแหล่งนี้ โดยผู้ผลิตจะต้องศึกษาวิธีการส่งออก โดยใช้ตราจีไอ ซึ่งจะต้องผลิตเป็นแพ็ก ไม่ใช่ส่งในปริมาณมาก ๆ แต่จะมีมูลค่าสูง โดยหลังจากนี้ไทยจะขอจดทะเบียนคุ้มครองสินค้ากาแฟที่มีแหล่งผลิตจากดอยตุงและดอยช้าง เช่น กาแฟขี้ชะมด จากดอยตุง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณไม่มาก แต่จำหน่ายในราคาสูงหลายหมื่นบาท" นางปัจฉิมากล่าว

แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า แนวโน้มการจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในปี 2554 ของกรมมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนการจดคุ้มครองสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายในตลาดอาเซียนมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) และการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอนาคต ปี 2558 ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนว่าแต่ละประเทศมีการใช้กฎหมาย จีไอหรือใช้กฎหมายคุ้มครองเครื่องหมาย การค้าอย่างไร มีเงื่อนไขการขอจดอย่างไร

สำหรับข้อจำกัดของการจดทะเบียนคุ้มครองจีไอที่ล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากไทยต้องมีมาตรฐานการผลิตในแต่ละแหล่งที่สามารถตรวจสอบได้ อาทิ ข้าวถุง อาจต้องผลิตและบรรจุถุงในแหล่งผลิต เพื่อป้องกันการปลอมปน ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุน หากมีปริมาณไม่มาก ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุน ในการผลิตสูง ส่งออกไปแข่งขันได้ลำบาก แต่หากสามารถเริ่มต้นได้แล้ว เชื่อว่าในอนาคตสินค้ากลุ่มนี้จะเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้มาก

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า มีการยื่นขอคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมแล้ว 14 คำขอ เป็นของคนไทย 34 คำขอ ต่างประเทศ 7 คำขอ ในจำนวนนี้รับขึ้นทะเบียนแล้ว 22 คำขอ ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ แก้ไข ประกาศโฆษณา และอุทธรณ์คัดค้าน

สำหรับการส่งออกข้าวไทยไปตลาดอียู ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2553 มีปริมาณ 363,512.84 ตัน ลดลง 19.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการส่งออกปริมาณ 451,886.47 โดยตลาดอียู คิดเป็นสัดส่วน 5-6% ของตลาดข้าวทั้งหมด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.