www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ชี้อาฟตาทุบตลาดข้าวไทย เวียดนามยึดอาเซียน 60%


นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "มุมมองภาคเอกชนกับการผลิต และตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศภายใต้ FTA" ว่า ขณะนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก เพราะมีพันธุ์ดี พื้นที่เพาะปลูกได้เปรียบ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เริ่มพัฒนาผลผลิตข้าวต่อไร่สูงกว่าไทย ซึ่งผลผลิตต่อไร่ที่น้อยกว่าทำให้ต้นทุนสูง แม้จะได้เปรียบเรื่องคุณภาพดีกว่า แต่จากราคาที่สูง ทำให้ผู้นำเข้าเลือกซื้อราคาถูกมากกว่า โดยบางช่วงราคาข้าวของไทยห่างจากคู่แข่งถึง 100 ดอลลาร์ต่อตัน

ส่วนข้าวหอมมะลิที่ไทยภูมิใจว่าเป็นข้าวคุณภาพดี ปัจจุบันกัมพูชาได้นำพันธุ์ไปปลูกและส่งออกข้าวเปลือกให้กับเวียดนาม ภายใต้เงื่อนไขการเปิดเขตเสรีทางการค้าอาเซียนหรืออาฟตา ก่อนที่เวียดนามจะแปรรูปส่งออก

ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวในภาพรวมได้มากถึง 3.1 ล้านตัน ต่ำกว่าไทยเล็กน้อยที่ส่งออกได้ 3.3 ล้านตัน เฉพาะเดือน พ.ค. เวียดนามส่งออกมากกว่าไทยถึง 7 แสนตัน และที่สำคัญข้าวเวียดนาม มีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยมาก

"การส่งออกข้าวของเวียดนามปีก่อนมี 4 ล้านตัน แต่ปีนี้ จะส่งออกได้ถึง 6.5 ล้านตัน ช่วง 5 เดือนแรกส่งไปแล้ว 3.1 ล้านตัน แสดงว่าเขาแอบซ่อนตัวเลขเอาไว้ และราคาข้าวเวียดนาม ที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดอาเซียนมากถึง 60%" นายสมเกียรติกล่าว

เตือนเลิกฝันจุดแข็งคุณภาพดีกว่า

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การที่ไทยยังคิดว่ามีข้อได้เปรียบเรื่องคุณภาพที่ดีกว่า ในขณะนี้ ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะในช่วงหลายปี 5 ปีที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิมีคุณภาพด้อยลงในด้านกลิ่น ซึ่งยังไม่มีการวิจัยว่าเป็นผลมาจากดินที่เสื่อมสภาพ สภาพภูมิอากาศ ลักษณะการเก็บเกี่ยวที่เปลี่ยนไป ซึ่งทั้งหมดจะต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น การหานวัตกรรมข้าวใหม่ๆ และการใช้ประโยชน์ผลผลิตจากข้าวทั้งหมด

"การแข่งขันส่งออกข้าวที่รุนแรงขึ้นเป็นสัญญาณเตือนอันตรายถึงไทย ต้นเดือน ก.ค.นี้รัฐและเอกชน จะจัดสัมมนาร่วมกันว่าทำอย่างไร ที่ไทยจะรักษาอันดับ 1 การส่งออกไว้ให้ได้ ซึ่งรัฐควรแยกให้ชัดเจนว่า อะไรคือการแข่งขันด้านธุรกิจ และอะไร คือ การช่วยเหลือเกษตรกร ข้าวชนิดไหนที่ควรแพง และข้าวชนิดไหนที่ควรถูก เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถแข่งขันในตลาดได้ ตามกลไกการตลาดที่เปิดเสรีมากขึ้นในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ข้าว จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ว่า จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างไร" นายสมเกียรติกล่าว
โรงสีจี้ปรับปรุงข้าวทั้งวงจร

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยพันธุ์ข้าวดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับในอดีต แต่การเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรยังมีน้อย ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เมื่อมีปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้น ผลผลิตข้าวนาปรังได้รับความเสียหายมากถึง 15-20% แต่ปีนี้ ชาวนาไม่โวยวาย เพราะรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้

นายบรรจง กล่าวว่า วงจรข้าวทั้งระบบมีจุดอ่อนอยู่มาก เห็นได้จากราคาข้าวในตลาดยังตกต่ำ มาตรการรับซื้อข้าวรัฐไม่ได้ผล เสถียรภาพราคาข้าวไม่มี ขาดระบบถ่วงดุลและตลาดซื้อขายล่วงหน้าไม่แข็งแรง การเปิดโอกาสซื้อ-ขายไม่แพร่หลาย ซึ่งโครงการแทรกแซงใช้งบประมาณไปเฉียด 5 หมื่นล้านบาท มากกว่าโครงการรับจำนำ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย

"การชดเชยตามโครงการประกันรายได้ ทำให้ต่างประเทศกดราคารับซื้อข้าวจากไทย จึงต้องปรับปรุงนโยบาย เพื่อให้ข้าวของไทยอยู่รอดทั้งระบบ เกษตรกรจะต้องได้รับการอบรมที่ถูกต้อง และเห็นผลในภาคปฏิบัติ นโยบายสต็อกข้าวจะต้องเปลี่ยนแปลง จากที่กำหนดไว้ 15% ของผลผลิตทั้งหมดให้เหลือเพียง 5% ได้หรือไม่ เพื่อให้ข้าวอยู่ในระบบซื้อขายล่วงหน้าแทน และจะทำให้ข้าวไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น" นายบรรจงกล่าว

ชาวนาซัดนักการเมืองป่วนระบบข้าว

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นเป็นตันละ 13,000-14,000 บาท หลายฝ่ายมองว่าชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามต้นทุนการผลิตข้าวของไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นตาม ทั้งค่าปุ๋ย และค่าเช่านา ขณะนี้ เมื่อราคาข้าวลดลงเหลือตันละ 7,600 บาท ปัจจัยการผลิตแม้จะลดลง แต่เล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งยังมีปัญหาเพลี้ยระบาด

"ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากข้าวเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ใช้หาเสียงว่าจะทำให้ราคาสูงขึ้น เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็มีมาตรการที่ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง สุดท้ายชาวนาก็เป็นผู้ถูกตำหนิ หากมีการเรียกร้องให้ราคาข้าวสูงขึ้น ก็ถูกกล่าวหาว่าทำให้กลไกการตลาดเสียหาย" นายประสิทธิ์กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ราคาส่งออกข้าว กลับไปใช้ราคาข้าวเวียดนามเป็นตัวตั้ง โดยไม่คิดแข่งขัน ขณะที่ภาครัฐ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการเจาะตลาดใหม่ ทำให้ไทยเสียโอกาสตลาดประเทศมุสลิม

"การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่ทุกฝ่ายต่างคนต่างทำอย่างไม่จริงใจ จะทำให้เพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และเวียดนามแซงไทยไปได้ ที่น่าห่วง คือ ลาว ที่มีสัมพันธ์อันดีกับเวียดนาม และมีแนวโน้มว่าจะผลิตข้าวเพื่อส่งให้เวียดนาม ในลักษณะเดียวกับกัมพูชา หากเป็นจริง ไทยจะตายแน่ เพราะเขามีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยมาก"

เกษตรฯ รับผลผลิตข้าวไทยต่ำ

นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาผลผลิตต่อไร่ของไทยถือว่ามีความทัดเทียมกับต่างประเทศ ข้าวบางพันธุ์ที่ใช้ปลูกพื้นที่นาปรังในเขตชลประทานให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ที่ค่าเฉลี่ยผลผลิตทั้งประเทศได้เพียง 440 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ประมาณ 50% อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถทำนาปรังได้ เมื่อนำมาผลผลิตที่ได้ทั้งหมดมาหารเฉลี่ย ทำให้ผลผลิตต่ำลง

นอกจากนี้ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวไวแสงจะออกรวง ในช่วงที่มีกลางวันสั้นกว่ากลางคืน และให้ความหอมได้ดีในพื้นที่น้ำน้อย จึงไม่เหมาะสมที่จะพัฒนาให้ปลูกได้หลายครั้ง

ผวาอินเดียหันส่งออกกระทบข้าวนึ่ง

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกได้รับกระแสข่าวที่อินเดีย จะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่เป็นความจริง ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยหากอินเดียยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกจริง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทย ที่ส่งออกได้สูงมากในหลายๆ ตลาด ที่เคยเป็นลูกค้าของอินเดีย และในแง่ภาพรวมตลาด จะทำให้ราคาข้าวโลกปรับตัวลดลงมา แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบมาก เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีสต็อกข้าวอยู่

ส่วนความเคลื่อนไหวราคาส่งออกข้าวสัปดาห์นี้ พบว่าทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงปริมาณข้าวเปลือกในตลาดที่ลดลงจากสาเหตุภัยแล้ง และการเพาะปลูกขาดตอน ส่งผลให้ราคาข้าวสารปรับตัวเพิ่ม

ราคาส่งออกข้าว (เอฟโอบี) ณ วันที่ 23 มิ.ย. ข้าวหอมมะลิชั้น 1 ตันละ 1,095 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (16 มิ.ย.) ตันละ 1,092 ดอลลาร์ ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 739 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 722 ดอลลาร์ ข้าวสาร 100% ชั้น 2 ตันละ 479 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 471 ดอลลาร์ ข้าวสาร 5% ตันละ 448 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 440 ดอลลาร์ ข้าว 25% ตันละ 395 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 389 ดอลลาร์

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.