นายอนุกูล แต้มประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ข้าวในคลังของ อคส.ขณะนี้เหลืออยู่ 1.3 ล้านตัน ล่าสุดอยู่ระหว่างรอเอกชนที่ได้รับอนุมัติซื้ออีก 8 แสนตัน มาทำสัญญา จะทำให้สต๊อกเหลือแค่ 5 แสนตัน โดยขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสต๊อกข้าว 210 บาท/ตัน/เดือน แบ่งเป็นค่าโกดังและค่ารมยา ซึ่งการอนุมัติขายข้าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค.ถึงปัจจุบัน พบว่า คณะกรรมการระบายข้าวสารที่มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน ได้อนุมัติขายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ทั้งในส่วนคลังของ อคส. และคลังขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมกว่า 4 ล้านตัน จากสต๊อกทั้งหมด 5.6 ล้านตัน
รอบล่าสุดได้อนุมัติการจำหน่ายในส่วนของคลัง อคส. อีก 8 แสนตัน ให้ผู้ส่งออก 3 ราย ซึ่งผ่านการพิจารณาจาก รมว.พาณิชย์ และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แล้ว
การจำหน่ายข้าวรวมกว่า 4 ล้านตัน คาดว่าจะทำให้รัฐบาลขาดทุน 12 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสต๊อกส่วนใหญ่เป็นของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 นาปี 2551/2552 และนาปรัง 2552 ต้นทุนเฉลี่ย 11.2 หมื่นบาท (คิดจากราคารับจำนำข้าวขาว 5% ซึ่งเป็นข้าวส่วนใหญ่ในสต๊อกรัฐบาล) เมื่อแปรสภาพเป็นข้าวสารมีต้นทุนที่ 2 หมื่นบาท/ตัน แต่ราคาที่ขายให้ผู้ส่งออกอยู่ที่ 1.21.3 หมื่นบาท/ตัน เฉลี่ยขาดทุน 7,000 บาท/ตัน
ขณะที่ในวงการข้าว ระบุว่า ปัญหาการทุจริตแทรกแซงข้าวเกิดจากการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้นักการเมืองเพื่อให้ได้รับการอนุมัติขายข้าว 8001,000 บาท/ตัน โดยตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ สัดส่วน 60 ต่อ 40 ซึ่งการอนุมัติขายข้าวเพิ่มครั้งล่าสุด ทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดตกลงมาอย่างหนักเหลือตันละ 7,000-8,000 บาท จาก 9,000 บาท/ตัน
ที่มา โพสต์ทูเดย์
|