ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานผลการเปิดซองประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ปรากฏมีผู้เสนอราคาเข้ามา 22 ราย จากจำนวนข้าวรวม 375,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 5% จากโครงการจำนำข้าวนาปรัง ปี 2551 ปริมาณ 101,742 ตัน, ข้าวขาว 5% จากโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/ 2552 ปริมาณ 100,507 ตัน, ข้าวขาว 5% จากโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ปริมาณ 101,003 ตัน และข้าวเหนียว 10% จากโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/52 ปริมาณ 75,949 ตัน
โดยผลการเสนอราคาเฉลี่ยของข้าวขาว 5% จะแข่งขันกันอยู่ระหว่าง 16,000-16,200 บาท/ตัน ต่ำกว่าราคาตลาดที่อยู่ประมาณ 17,000-18,000 บาท หรือ 590-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวเหนียวมีความแตกต่างของราคามากตั้งแต่ 10,000-17,100 บาท แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาตลาดสำหรับข้าวเก่าอยู่ที่ 20,000 บาท/ตัน
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเหนียวกล่าวว่า สาเหตุที่การแข่งขันซื้อข้าวเหนียวคึกคักที่สุดเพราะปริมาณผลผลิตในฤดูที่ผ่านมาลดลงถึง 20-30% จากปริมาณผลผลิตปกติปีละ 3 ล้านตัน หลังจากชาวนาภาคอีสานหันไปปลูกข้าวหอมมะลิที่มีราคาประกันสูงกว่ามาก ขณะที่ความต้องการข้าวเหนียวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นและไทยกลายเป็นประเทศผู้ปลูกข้าวเหนียวมากที่สุด
ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องหันมานำเข้าจากไทย ทั้งจีนซึ่งประสบภัยหนาวด้วย และลาว เวียดนาม ซึ่งไม่มีการปลูกข้าวเหนียวแล้ว จึงนำเข้าจากไทย แต่ไทยมีสัดส่วน การบริโภคภายในถึง 80-90% ที่เหลือ จึงจะส่งออก แต่ยอดส่งออกปี 2552 มีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 400,000-500,000 ตัน จากปกติที่ส่งออกประมาณ ปีละ 200,000-300,000 ตันเท่านั้น
ส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นมาถึงตันละ 25,000 บาท จากก่อนหน้านั้นที่ราคาอยู่ที่ 22,000 บาทถือว่าสูงรองจากปี 2551 ที่เคยทำสถิติไว้ตันละ 26,000 บาท ผลจากการที่ราคาปรับสูงขึ้นอย่างรุนแรงทำให้ตลาดรับไม่ได้ และเมื่อรัฐบาลประกาศจะเปิดประมูลข้าวเหนียว ทำให้ลูกค้าหยุดการสั่งซื้อทันที ราคาจึงอ่อนลงอยู่ที่ตันละ 22,000-23,000 บาทสำหรับข้าวเหนียวใหม่ ซึ่งเป็นข้าวที่นิยมบริโภค ส่วนข้าวเหนียวเก่าจะอยู่ที่ตันละ 20,000-21,000 บาท ขณะที่ราคาปลายข้าวเหนียวอยู่ที่ 16,000-17,000 บาท/ตัน โรงสีข้าวเหนียวส่วนใหญ่จึงเจอปัญหาสภาพคล่องทันที ลดปริมาณการสต๊อกเหลือ 1-2 สัปดาห์ เพราะราคาข้าวเปลือกปรับสูงขึ้น ไปที่ 11,000-12,000 บาท/ตัน จากราคาประกัน 9,500 บาท และราคาปีก่อน 7,000-8,000 บาท/ตัน
"ผลการขายข้าวเหนียวรัฐบาลครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดราคาในอนาคตของข้าวเหนียว เพราะเมื่อตอนประกาศประมูลราคาลง แต่ถ้าหากรัฐบาลยอมขายขาดทุนต่ำกว่า 20,000 บาทจะทำให้ราคาข้าวเหนียวในตลาดตกลงทันที แต่รัฐบาลน่าจะใช้ราคาข้าวเหนียวย้อนหลัง 3 เดือนในการคำนวณ คาดว่าจะมีราคา 23 บาท แต่เกณฑ์อาจจะลดโดยหักค่าใช้จ่ายซึ่งจะทำให้อยู่ที่ประมาณ 21 บาท และไม่มีใครให้ผ่านเกณฑ์ ซึ่งอาจจะต้องล้มประมูลข้าวเหนียวไปก่อน เพราะเท่าที่ทราบสต๊อกข้าวเหนียวรัฐบาลน่าจะเหลืออยู่ 130,000 ตัน"
ขณะที่การแข่งขันเสนอราคาข้าวขาว 5% โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น บจก.พงษ์ลาภ, บจก.เอเชียโกลเด้นไรซ์, บจก.ไทยฟ้า (2511) และ บจก.แคปปิตัล ซีเรียส์ในเครือนครหลวงค้าข้าว จะเสนอ ราคาใกล้เคียงกันที่ตันละ 16,000-16,200 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดที่ 17,000-18,000 บาท เสมือนหนึ่งมีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว ทำให้รายเล็กรายย่อยไม่ค่อยเข้ามาแข่งขันซื้อข้าวชนิดนี้มากนัก เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการตั้งราคาซื้อขายที่ 16,000-16,500 บาท และมีการเสนอให้ค่าใช้จ่ายพิเศษตันละ 500 บาท ทางกระทรวงพาณิชย์ก็รีบร้อนเปิดประมูล โดยประกาศเงื่อนไขหลักเกณฑ์ออกมาวันที่ 18 มกราคม แต่เปิดซองวันที่ 21 มกราคม ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถเข้าดูสภาพข้าวที่จะประมูลได้ทันเวลา และไม่ยอมแบ่งข้าวไปเข้าประมูลในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แห่งประเทศไทย (AFET) อย่างที่เคยทำปีก่อน
"หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สามารถเจรจาต่อรองราคาข้าวขาวให้สูงถึง 18,000 บาท และข้าวเหนียวต้องได้ 20,000 บาทต่อตัน ก็จะลดปัญหาข่าวลือขายขาดทุนหวังค่าใช้จ่ายพิเศษข้าวขาว 500 บาท/ ตัน ข้าวหนียว 200 บาท/ตันได้ ถ้าไม่ถึงก็ยังไม่ควรขาย ผู้ส่งออกซื้อข้าวสามารถหาซื้อข้าวโรงสีในสต๊อกของโรงสีได้" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |