จากกรณีที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ซึ่งมีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน เรียกบริษัทผู้ส่งออกข้าวบางรายมาเสนอราคารับซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลและจำหน่ายให้ "แบบเงียบ ๆ" โดยไม่มีการ เปิดประมูลเป็นการทั่วไปได้ก่อให้เกิดการ วิพากษ์จากวงการค้าข้าวถึงความไม่โปร่งใสดังกล่าวว่า การเปิดขายข้าวแบบเงียบ ๆ อย่างลับ ๆ ในครั้งนี้มีการเรียก "ค่าใช้จ่ายพิเศษ" จากผู้ที่ถูกเรียกให้เข้าไปซื้อข้าวอีกกระสอบละ 100-150 บาท ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์การระบายข้าวดูแย่ลง
ในขณะที่ความจริงได้เริ่มถูกเปิดโปงออกมาจากหนังสือ "ลับมาก" เรื่องการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลครั้งนี้ถูกจัดให้เป็น "การดำเนินการในทางลับ... เพื่อประโยชน์ของทางราชการ"
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการขายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้ว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารได้ทำการจำหน่ายข้าวสาร 3 ชนิด ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ประกอบไปด้วยข้าวหอมปทุมธานีนาปีปี 2551/52 และนาปรังปี 2552, ข้าวเหนียวขาว 10% นาปีปี 2551/52 และนาปรังปี 2552 และข้าวขาว 5% นาปรัง ปี 2551 นาปี 2551/52 และนาปรังปี 2552 ให้กับผู้ส่งออกบางรายในวงการค้าข้าว
ทั้งนี้ผู้ส่งออกที่ถูกเรียกให้ไปเสนอราคาและมีการเริ่มขนย้ายข้าวออกจากโกดังในขณะนี้มีอยู่ 3 รายด้วยกันคือ บริษัทเอเชีย โกลเด้นไรซ์, บริษัทนครหลวงค้าข้าว และบริษัทข้าวไชยพรได้ทยอยทำสัญญาและออกใบขน (B/O) รับมอบข้าวแล้ว อาทิ บริษัทนครหลวงค้าข้าวรับมอบข้าวจากคลังบัวใหญ่ปริมาณ 10,600 กระสอบ ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ที่ถูกเรียกให้เข้าไปซื้อข้าวนอกจากต้องจ่ายค่าใช้จ่ายพิเศษแล้วยังมีเงื่อนไขจะต้องเร่งรับมอบให้เสร็จโดยเร็ว (ข้าวหอมปทุมธานี-ข้าวเหนียวขาว 10% ขนย้ายภายใน 60 วัน ข้าวขาว 5% ขนย้ายภายใน 90 วัน นับจากวันทำสัญญาซื้อขาย) โดยไม่ให้ระยะเวลายาวนานถึง 270 วันเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม มีบริษัทผู้ส่งออกข้าวอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในอันดับรอง ๆ ลงไปได้รับการติดต่อจากกระทรวงพาณิชย์ให้เข้ามายื่นใบออร์เดอร์เสนอราคาซื้อข้าวพร้อมกับรายชื่อลูกค้าในต่างประเทศ เพื่อเตรียมพิจารณาขายข้าวในสต๊อกเป็นลอตที่สอง มีทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ บริษัทพงษ์ลาภ, บริษัทเจียเม้ง, บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด และบริษัทไทยฟ้า 2511
"ทุกรายเสนอยืนราคาเท่ากับ 3 รายแรก ได้แก่ ข้าวขาว 5% ราคาตันละ 12,000 บาท หรือต่ำกว่าราคาตลาดที่ขายกันอยู่ประมาณ 13,400-13,500 บาท ข้าวเหนียว 20,000 บาท ต่ำกว่าราคาตลาด 30,000 บาท และข้าวหอมปทุมธานี 17,000 บาท จากราคาตลาด 20,000 บาท สาเหตุที่ราคาเสนอซื้อต่ำมากนั้นเป็นเพราะ ทุกรายต้องจ่ายค่าใช้จ่ายพิเศษในการซื้อข้าวด้วย ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารจะขายข้าวให้หรือไม่"
ด้านนายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ได้ยื่นเสนอซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐบาลปริมาณ 300,000 ตันเศษ โดยทั้งหมดเป็นข้าวที่เก็บในโกดังของบริษัทที่ให้รัฐบาลเช่าและต่อรองราคาแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่า บริษัทสามารถซื้อได้ในราคาเท่ากับ 3 รายแรกที่เข้าไปซื้อลอตแรก พร้อมทั้งยื่นหลักฐานออร์เดอร์ต่างประเทศ ซึ่งลักษณะคล้ายบันทึกความเข้าใจ (MOU) ทั้งจากสิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และสหภาพยุโรป มีความต้องการซื้อข้าวมากกว่า 500,000-600,000 ตัน เข้าไปประกอบการพิจารณา
"ผมต้องการรักษาสิทธิจึงได้ยื่นซื้อข้าวเข้าไป มีบางคนมาโจมตีผมว่า รู้เรื่องเปิดเสนอซื้อแล้วทำไมไม่ยื่นซื้อเข้าไปเอง ผมก็ต้องรักษาสิทธิ ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนเสนอเข้าไปแบบโปร่งใส ดูว่ากระทรวงพาณิชย์จะขายข้าวให้ทุกคนเท่าเทียมกันหรือไม่ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังทำเป็นการภายใน ผมยังไม่เห็น TOR" นายสมพงษ์กล่าว
ขณะที่นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับถึงการขายข้าวแบบเงียบ ๆ อย่างลับ ๆ ในครั้งนี้ได้เสนอให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาอนุมัติจำหน่ายข้าวสารตามมติของคณะทำงานระบายข้าวสารทราบแล้ว
"ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมบางรายทราบบางรายไม่ทราบว่ามีการเปิดระบายข้าวนั้น ขอชี้แจงว่า กระบวนการวิธีการขายทั้งหมดเป็นเรื่องของคณะทำงานระบายข้าวสาร พี่ไม่ได้ลงไปดูรายละเอียดว่า ทำกันอย่างไร ส่วนประเด็นที่เลือกบอกผู้ส่งออกข้าวบางรายนั้นเข้าใจว่าเป็นยุทธศาสตร์ ว่าใครมีออร์เดอร์เสนอเข้ามายังคณะทำงานเพื่อเจรจาต่อรอง ต่อรองเสร็จก็ส่งผลมายัง รมว.พาณิชย์ทำหน้าที่ส่งผ่านเรื่องไปที่รองประธานและประธาน กขช. (นายกรัฐมนตรี) พิจารณาอนุมัติขายหรือไม่ขาย เราเป็นฝ่ายปฏิบัติทำตามนโยบาย พี่ก็เซ็นตามที่คณะทำงานระบายเสนอมา ไม่ได้ดูว่าปริมาณหรือราคาขายเท่าไหร่ด้วยซ้ำ เพราะพี่วางใจคณะทำงานเค้ามีวิธีการอยู่แล้ว ไม่ต้องอ่าน คณะทำงานตั้งมาโดย ครม. มีหลายหน่วยงาน" นางพรทิวากล่าว
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายพิเศษนั้น นางพรทิวากล่าวว่า เป็นเรื่องที่พูดกันทุกครั้งที่มีการเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล "คงไม่ทำการตรวจสอบเพราะเป็นเรื่องที่บางคนคิดลบ บางคนคิดบวก แต่ขอให้คิดในทางที่ดีบ้าง ส่วนบางรายที่พูดออกมา เป็นไปได้ที่อาจจะเกิดจากการเสียประโยชน์เพราะไม่ได้ข้าว ซึ่งเราก็พยายามทำอย่างระมัดระวัง คณะทำงานของกรมฯเป็นฝ่ายเจรจา หากเห็นว่าอะไรเหมาะสมที่สุดก็ทำ อีกด้านทางฝั่งรองนายกฯก็มีคณะทำงานที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว เช่น อดีตปลัดศิริพล ยอดเมืองเจริญ ทั้งหมดนี้ก็จะทำหน้าที่พิจารณาร่วมกัน มีการกำหนดเกณฑ์ราคาชัดเจนทุกชนิด เช่น ข้าวเหนียวต่ำกว่า 20,000 บาท/ตันไม่ขาย มีคนยื่นมาต่ำกว่านี้เราไม่ขาย"
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ที่กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า มียุทธศาสตร์ที่เปิดให้เสนอซื้ออยู่แล้วและเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ทำไมไม่มีการออกให้ข้อมูลหรือประกาศให้สาธารณะรับทราบ การทำให้เป็นเรื่องลับ ๆ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะเปิดขายหรือใครจะยื่นซื้อแล้วทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่างราคาข้าวเหนียวขายแบบปกปิด (ไม่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป) ได้ราคาแค่ตันละ 20,000 บาท "ต่ำกว่า" ราคาหั่งเช้งที่ 30,000 บาท ถ้าหากมีคนแข่งขันราคาเชื่อว่ารัฐบาลอาจจะขายข้าวเหนียวได้ถึงตันละ 26,000-27,000 บาท
"ที่อ้างว่าต้องการขายให้คนที่มีศักยภาพมันก็ไม่เกี่ยวกับราคาข้าวที่รัฐบาลจะได้รับ ประเด็นเรื่องการไม่มี TOR การขายจะยืนยันได้หรือไม่ว่า ข้าวจำนวนดังกล่าวจะไม่ถูกนำกลับมาขายในประเทศหรือขายคืนให้กับโรงสีบางโรงที่นำข้าวที่เก็บไว้ไปใช้ก่อนอีก เพื่อเป็นการหักลบกัน แฮปปี้ทุกฝ่าย" นายชูเกียรติกล่าว
อย่างไรก็ตามการขายข้าวครั้งนี้จะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวกลับมาดีขึ้นในช่วงสั้น สำหรับผู้ส่งออกบางรายที่ได้ข้าวราคาต่ำจากรัฐบาลไป เช่น ซื้อข้าว 5% ที่ 12,000 บาท สามารถนำไปขายส่งออกราคา FOB.ที่ 400-410 เหรียญสหรัฐ/ตัน "ต่ำกว่า" ราคาตลาดปัจจุบันที่ 13,400-13,500 บาท ขายเป็นราคา FOB ได้ 440-450 เหรียญสหรัฐ/ตัน กำไรไปแล้ว 40-50 เหรียญ/ตัน แต่น่าเป็นห่วงในแง่ที่ว่า ราคาที่รัฐบาลขายในครั้งนี้อาจจะทำให้ราคาส่งออกข้าวโดยรวมลดลงโดยปริยาย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |