นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการตลาดข้าว เปิดเผยว่า ไม่เห็นชอบผลการเสนอซื้อข้าวสารในสต็อกรัฐบาลจำนวน 3.75 แสนตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 5% จำนวน 3 แสนตัน และข้าวเหนียว 7.5 หมื่นตัน ตามข้อเสนอของคณะทำงานเจรจาต่อรองการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ที่มีนายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน เสนอมาให้ยกเลิกการจำหน่ายข้าวสาร
ทั้งนี้ ทางคณะทำงานฯให้ความเห็นว่า แม้จะมีการต่อรองราคาข้าวกับผู้ที่เสนอราคาแล้ว ผลปรากฏว่าสามารถต่อรองราคาเสนอซื้อข้าวขาว 5% เพิ่มขึ้นแค่ตันละ 121-500 บาทเท่านั้น หรือรวมเป็นเงิน 65 ล้านบาท ซึ่งหากจำหน่ายในปริมาณ 2.91 แสนตัน จะทำให้รัฐบาลต้องขาดทุน 1,839 ล้านบาท จากต้นทุนรับจำนำ 6,512 ล้านบาท ส่วนข้าวเหนียวมีการเสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์มากจึงไม่มีการต่อรอง
“ราคาเสนอซื้อเฉลี่ยต่อตัน ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มาก และแนวโน้มราคาอนาคตน่าจะมีการปรับสูงขึ้น หลังจากผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งผลผลิตอาจลดลง 20% อีกทั้งการเสนอราคาแข่งขันบางคลังมีผู้เสนอซื้อเพียงรายเดียว บางคลังไม่มีผู้เสนอซื้อเลย สะท้อนให้เห็นว่าเอกชนไม่มีความต้องการข้าวหรือน่าจะยังมีข้าวสารในสต็อกอยู่ จึงซื้อคลังของตัวเองหรือในพื้นที่ใกล้ๆ เท่านั้น” นางพรทิวา กล่าว
นางพรทิวา กล่าวว่า แม้จะมีการยกเลิกผลการประมูลข้าวสารในสต็อกรัฐบาลครั้งนี้ แต่กระทรวงก็มีแผนจะระบายข้าวสารในเร็วๆ นี้เหมือนเดิม โดยกำลังพิจารณาวิธีการที่จะเปิดระบายครั้งต่อไป เบื้องต้นมี 3 วิธี คือ 1.เปิดระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) จำนวน 3 แสนตัน แบบทยอย 2.ให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาเสนอซื้อข้าวกับรัฐ โดยวิธีการนี้ จะให้ทางกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นผู้ตรวจสอบออเดอร์ข้าวที่ผู้ส่งออกนำมาแสดงเป็นหลักฐานว่าจริงหรือไม่ ซึ่งราคาที่จะขายให้ยึดตามเกณฑ์ราคาตลาดเป็นอย่างต่ำ และ 3.ภาครัฐตั้งราคากลางขายข้าวในสต็อกขึ้นมา และให้ผู้ส่งออกมาเสนอซื้อ
ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการระบายข้าวแบบใด แต่ยืนยันว่าตามแผนปีนี้ จะระบายข้าวออกจากสต็อกประมาณ 2 ล้านตัน หรือระบายสัปดาห์ละ 1 แสนตัน จากสต็อกที่มีอยู่ 5 ล้านตัน ทั้งนี้ ไม่รู้สึกกังวลวิธีที่ให้ผู้ส่งออกยื่นออเดอร์ซื้อข้าวมายังรัฐ จะถูกกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส เพราะจะมีการเปิดเผยข้อมูลแต่ละรายทั้งปริมาณและราคาที่เสนอซื้อ คาดว่าจะระบายให้ผู้ส่งออกไม่เกินรายละ 1 แสนตัน
ด้าน นายวิจักร กล่าวว่า คณะทำงานฯได้เจรจาต่อรองกับเอกชนทั้ง 22 ราย ที่ได้เสนอราคารับซื้อข้าวจากรัฐบาลโดยเฉลี่ยตันละ 14,000-16,000 บาท และได้มีการเจรจาต่อรองแต่ละรายเพิ่มขึ้นตันละ 200-600 บาท และกรมการค้าต่างประเทศได้ทำข้อสรุปผลการเจรจาทั้งปริมาณและราคาแล้ว เสนอต่อ นางพรทิวา พิจารณาแล้ว ดังนั้นขั้นตอนหลังจากนี้ไปขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่าจะเห็นชอบหรือให้เพิ่มการเจรจาต่อรอง หรือจะล้มประมูล เพราะได้ถือว่าหมดขั้นตอนของกรมการค้าต่างประเทศไปแล้ว
นางพรทิวา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (26 ม.ค.) รับทราบปัญหาการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2552/53 เนื่องจากมีเกษตรกรร้องเรียนจากจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคกลางว่า ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกว่า 7 หมื่นราย ทำให้ไม่สามารถรับเงินชดเชยส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร ดังนั้น ครม.จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามกรอบและแนวทางที่รัฐบาลกำหนด ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าเกษตรกรที่ตกค้างอยู่ยังไม่หมดแค่นี้แน่นอน
นางพรทิวา กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยมีนายถวิล พึ่งมา เป็นประธานกรรมการ ร.อ.รชฏ ปาละนิติเสนา เป็นรองประธาน และมีกรรมการอื่น ประกอบด้วย นายพุทธิสัตย์ นามเดช, นายณัฏฐชัย ณครแก้ว, นางสาวสมคิด บัวเพ็ง, นางพรศิริ มโนหาญ และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงส์
ขณะที่ตนจะเข้ามอบนโยบายให้คณะกรรมการ อคส. ชุดใหม่เร็วๆ นี้ โดยมีภารกิจเร่งด่วนที่อคส.จะต้องดำเนินการอย่างน้อย 2 เรื่องได้แก่ การส่งข้าวสารไปช่วยเหลือชาวเฮติ ที่ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหว และการเร่งรัดการจ่ายเงินค่าเช่าคลังสินค้าให้เอกชนที่ อคส.ยังค้างชำระเงินอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนกรณีการตรวจสอบการประมูลเช่าไซโลข้าวถือว่าจบแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดใหม่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |