นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี เปิดเผยว่า สต็อกข้าวของไทยจำนวนมากในแต่ละปีนั้น ไม่ถือเป็นปัญหาใหญ่ หากรัฐบาลมีวิธีจัดการที่ดี โดยแนวทางนั้นรัฐบาลควรเร่งติดต่อกับ 3 ประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย และจีน เพื่อร่วมกันจัดระบบบริหารจัดการข้าวในฐานะผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก พร้อมกำหนดราคากลางข้าว โดยให้ประเทศที่มีข้าวปริมาณน้อยขายก่อน ซึ่งจะทำให้ไทยได้ประโยชน์เลือกขายข้าวตลาดพรีเมียมได้ วิธีนี้จะดีกว่าที่ไทยเลือกเจรจารายประเทศ ทำให้ความร่วมมือไม่สำเร็จ และไม่สามารถกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกได้
"ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ต้องเป็นพี่ใหญ่เจรจาร่วมกันตั้งราคากลาง ยอมเสียสละขายข้าวภายหลัง รับรองว่า ราคาข้าวไทยจะไม่ตกต่ำ และจะไม่ตัดราคากับผู้ส่งออกด้วยกัน เกษตรกรไทยก็จะมีฐานะดีขึ้น" นายธนินท์กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าจะดำเนินการ คือ นำข้าวในสต็อกปีละ 2 ล้านตันไปบริจาคหรือช่วยประเทศยากจน ซึ่งจะทำให้ทั่วโลกรู้จักข้าวไทยมากขึ้น ที่เหลือจากบริจาคก็นำไปขาย แต่รัฐบาลต้องมีแผนขาย และตลาดที่ชัดเจนในราคาที่ตกลงร่วมกับผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆ รับรองราคาข้าวไทยจะไม่ตกต่ำ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกขณะนี้เริ่มสูงเป็น 9,000 บาทต่อตัน จาก 8,000 บาทต่อตัน คาดจะทำให้ราคาข้าวนาปี 2553/2554 สูงขึ้นด้วย ส่วนผลผลิตข้าวนาปี 2553/2554 คาดว่าจะลดลง 20% เพราะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง
ส่วนที่นายธนินท์แนะนำให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวเหลือ 25 ล้านไร่ เพื่อปลูกพืชอื่นที่ราคาสูงกว่านั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักของคนไทย และยากต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมทั้งเสี่ยงต่อความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หากผลผลิตข้าวลดลง จะส่งผลให้เป้าหมายความมั่นคงอาหารไม่มี ดังนั้น จึงไม่ควรลดพื้นที่ปลูกข้าว แต่ต้องพัฒนาให้ดีเพื่อความยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ตาม สมาคมเห็นด้วยที่จะจัดโซนนิ่งและลดปลูกข้าวนาปรังเหลือ 2 ครั้ง เพื่อตัดวงจรโรคระบาดและช่วยควบคุมปริมาณข้าวด้วย
"นายธนินท์ไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นนักธุรกิจที่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ ต่างจากการปลูกข้าวที่มีปัจจัยเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ทั้งโรคระบาด น้ำท่วม และป้องกันได้ยาก และถ้าผลผลิตข้าวยิ่งน้อย แม้ราคาข้าวจะดี แต่คนไทยจะไม่มีข้าวกิน..."
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|