หลังจากที่ภาวะการส่งออกข้าวไทยปีนี้ซบเซา โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-7 มิถุนายน ส่งออกได้เพียง 3.5 ล้านตัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาลดลงถึง 58 % แต่ปรากฏว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าวมีความคึกคักขึ้น เมื่อคณะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอิรัก ได้เดินทางเข้าพบนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งความจำนงสนใจซื้อล็อตใหญ่จากรัฐบาลไทย
อิรักขอซื้อข้าวจีทูจี
แหล่งข่าวจากที่ปรึกษานางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาได้มีคณะของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของประเทศอิรัก นำโดยนายอับดุลฮาดี คาดิม อาบิด อัล-ฮามิรี(Mr.Abdulhadi Kadhim Abid Al-Hamiri) ได้เดินทางเข้าพบนางพรทิวา เพื่อหารือเรื่องการขยายการค้าระหว่างกัน ที่สำคัญคือ อิรักได้แสดงความสนใจจะซื้อข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจีกับประเทศไทย เพื่อนำไปบริโภคภายใน และเพื่อส่งออก (รี-เอ็กซ์ปอร์ต)ไปยังประเทศข้างเคียง เนื่องจากหลังสงครามโค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็นสิ้นสุดลง และบ้านเมืองเริ่มกลับคืนสู่ปกติ อิรักต้องการเปิดประเทศใหม่อีกครั้ง ส่วนหนึ่งได้วางเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวในภูมิภาค ประกอบกับที่ผ่านมาอิรักนำเข้าข้าวจากเวียดนาม แต่ช่วงหลังเวียดนามประมูลขายให้ฟิลิปปินส์ได้จำนวนมาก ต้องนำข้าวไปส่งมอบฟิลิปปินส์
"ในส่วนของรายละเอียด ทางเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายจะได้ไปหารือกันต่อไป โดยที่ผ่านมาอิรักมีการบริโภคข้าวประมาณ 150,000 ตันต่อเดือน และมีการเปิดประมูลซื้อข้าวเป็นช่วงๆ โดยมีการนำเข้าเดือนละประมาณ 100,000 ตัน ซึ่งจากเป้าประสงค์ของอิรักในครั้งนี้ ทางประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุน เพราะมีข้าวในสต๊อกรัฐบาล รวมทั้งข้าวเอกชนที่จะขายให้อยู่แล้ว"
ลุ้น 2 ปีซื้อ 2.4 ล้านตัน
ด้านนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เข้าร่วมหารือกับคณะจากอิรักในครั้งนี้ เปิดเผยในรายละเอียดของการเจรจาว่า ทางอิรักได้แจ้งเจตจำนงเบื้องต้นว่า สนใจจะซื้อข้าวจีทูจีกับไทย เบื้องต้นรวมประมาณ 2.4 ล้านตัน ภายใน 24 เดือน เป็นข้าวขาว 5% ส่งมอบเป็นล็อต ๆ หรือเฉลี่ยเดือนละ 100,000 ตัน ล่าสุดทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาการซื้อขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลระหว่างกัน เพื่อจัดทำเป็นร่างสัญญาต่อไป อย่างไรก็ดีหลังจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการเจรจากันอีกไม่ต่ำกว่า 2 รอบ เพื่อนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)ในเร็ว ๆ นี้ โดยรายละเอียดที่ต้องหารือกัน เช่น เงื่อนไขการซื้อเป็นเอฟโอบี(ราคา ณ ท่าเรือต้นทาง) หรือซีไอเอฟ (ราคารวมค่าขนส่ง และประกันภัยถึงปลายทาง) เรื่องราคาซื้อขายเบื้องต้น รวมทั้ง การทบทวนราคาซื้อขายในแต่ละช่วง เนื่องจากราคาข้าวมีความผันผวน เป็นต้น
"แต่ละปีอิรักนำเข้าข้าวมากกว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากไทยผ่านบริษัทเอกชนที่เข้าไปประมูลขายข้าว รวมถึงนำเข้าจากเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ข้อเสนอครั้งนี้ถือเป็นการติดต่อซื้อขายแบบจีทูจีครั้งแรก ซึ่งราคาคงเป็นราคามิตรภาพต่ำกว่าราคาตลาด เพราะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก"
ลุยขายจีทูจีหลายประเทศ
นอกจากอิรักแล้ว ทางกระทรวงอยู่ระหว่างการเจรจาขายข้าวจีทูจีกับหลายประเทศ ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจากับอินโดนีเซีย ซึ่งมีการนำเข้าข้าวแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน และมีแผนที่จะเจรจากับฟิลิปปินส์ที่ต้องนำเข้าปีละ 1-2 ล้านตัน รวมถึงเจรจากับมาเลเซีย นอกจากนี้จะเจรจาขายข้าวแลกเฮลิคอปเตอร์ของรัสเซีย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมแล้ว อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้รัสเซียค้างค่าข้าวรัฐบาลไทยจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ในการซื้อขายครั้งนี้ค่าข้าวรวมหนี้ที่ค้างจะสูงกว่าราคาเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งรัสเซียคงต้องชำระเป็นเงินสดส่วนหนึ่ง
3 เดือนจังหวะดีขายข้าว
นายมนัส กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของปีนี้ ถือเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ประเทศไทยจะได้ระบายข้าวออกต่างประเทศ มีปัจจัยบวกจากหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ จากภัยแล้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปรังออกไป 2 เดือน จะทำให้ผลผลิตข้าวของไทยมีออกมาน้อยลง ขณะที่ข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่มีกว่า 5 ล้านตัน จากนี้ไปจะไม่มีข้าวเพิ่มเข้ามาในสต๊อกอีก เพราะรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเป็นประกันรายได้ ไม่มีโครงการรับจำนำแล้ว ซึ่งข้าวในสต๊อกของรัฐบาลจะไม่ขายแข่งตัดราคาเอกชน แต่จะเน้นขายจีทูจีเป็นหลัก
ประกอบกับเวียดนามคู่แข่งสำคัญช่วงที่ผ่านมาได้ขายข้าวออกไปมาก ส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างส่งมอบข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ประมูลมาได้ ขณะที่ผลผลิตในฤดูกาลใหม่ของเวียดนามยังต้องรอ ส่วนอินเดียไม่มีการส่งออกข้าวในช่วงนี้ รวมถึงกรณีที่อิรักมีแผนจะซื้อข้าวไทยกว่า 2 ล้านตัน จะทำให้สต๊อกข้าวไทยลดลง ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา หากทุกฝ่ายช่วยกันส่งสัญญาณออกไป เชื่อว่าผู้ซื้อต่างประเทศจะเร่งนำเข้าข้าวมากขึ้น เพราะของจะมีน้อยลง และจะดันราคาข้าวไทยในตลาดโลกให้สูงขึ้นได้
พ่อค้าชี้นิมิตหมายที่ดี:
นายเสริมศักดิ์ ควรทรงธรรม ทายาทนายไพบูลย์ ควรทรงธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท ข้าวไชยพร จำกัด ผู้ค้าข้าวไทยรายใหญ่ในอิรัก กล่าวว่า อิรักมีความต้องการนำเข้าข้าวปีละประมาณ 1 ล้านตัน โดยใช้วิธีเปิดประมูลซื้อเป็นการทั่วไป ภายใน 1 ปีจะเปิดประมูลซื้อประมาณ 8-9 ครั้ง ครั้งละ 30,000-90,000 ตัน แม้จะประมูลทั้งผ่านเทรดเดอร์และผู้ส่งออกโดยตรง แต่ในส่วนผ่านเทรดเดอร์ส่วนใหญ่เทรดเดอร์จะแจ้งว่าเป็นข้าวจากสหรัฐอเมริกา ไทย และเวียดนาม แต่โดยรวมแล้วอิรักนิยมบริโภคข้าวไทยมากที่สุด แต่เหตุที่ซื้อจากสหรัฐอเมริกาเพราะเหตุผลทางการเมือง ขณะที่การซื้อจากประเทศเวียดนาม เพราะเวียดนามได้สร้างความสัมพันธ์กับอิรัก โดยแลกเปลี่ยนลงทุนร่วมกันทั้งในอิรักและเวียดนาม
"กรณีที่อิรักแสดงความสนใจจะซื้อข้าวไทยปีละ 1.2 ล้านตัน หรือเดือนละ 100,000 ตัน เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือรวม 2.4 ล้านตันนั้น เป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ในข้อเท็จจริงแล้วต้องดูอีกที เพราะอิรักเองยังมีปัญหาสถานะทางการเงิน อีกทั้งอิรักมีความจำเป็นต้องซื้อข้าวจากสหรัฐฯและเวียดนามอยู่ การที่จะซื้อจากไทยทั้งหมดจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไรก็ดีวันที่ 4 กรกฎาคม ศกนี้ อิรักจะเปิดประมูลซื้อข้าว หากครั้งนี้อิรักตัดสินใจซื้อจากประเทศไทย พอจะบ่งชี้ได้ว่าอิรักต้องการซื้อข้าวจากประเทศไทย"
ทวงหนี้ค่าข้าว 1,600 ล้าน
เขากล่าวอีกว่า การเดินทางมาประเทศไทยของคณะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการการค้าของอิรักในครั้งนี้ นอกจากพบปะระดับรัฐมนตรีของไทยแล้ว ได้พบปะกับสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยด้วย ซึ่งทางสมาคมได้เชิญชวนอิรักซื้อข้าวและลงทุนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในไทย หรือให้คนไทยไปลงทุนที่อิรัก พร้อมกันนี้ผู้ส่งออกได้สอบถามหนี้ค่าข้าว ที่อิรักค้างชำระไทยอยู่ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,650 ล้านบาท คำนวณที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากพ่อค้าข้าวไทย 8-9 ราย ขายข้าวให้กับอิรักในปี 2532 แต่หลังจากส่งมอบข้าวเรียบร้อยแล้วยังไม่ได้รับชำระเงิน เกิดเหตุการณ์อิรักบุกคูเวตปี 2533 จึงไม่ได้ชำระค่าข้าว แต่หลังจากนั้นได้มีการชำระบางส่วนล่าสุดคงค้างอยู่ราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อนึ่ง จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปอิรักย้อนหลัง 5 ปี ว่า ในปี 2548 มีการส่งออก 463,195 ตัน ปี 2549 ส่งออก 616,900 ตัน ปี 2550 ส่งออก 394,755 ตัน ปี 2551 ส่งออก 494,653 ตัน ปี 2552 ส่งออก 282,024 ตัน และช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553(ม.ค.-พ.ค.) ส่งออก 166,293 ตัน
เปิดประมูลอีก 3 หมื่นตัน
สอดคล้องกับนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่กล่าวว่า การติดต่อซื้อข้าวจีทูจีจากรัฐบาลไทยของอิรักครั้งนี้ หากเขาซื้อจริงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะที่ผ่านมาอิรักไม่เคยซื้อข้าวจีทูจีกับไทยเลย แต่อิรักจะใช้วิธีเปิดประมูลซื้อขายข้าวจากภาคเอกชนเป็นช่วง ๆ โดยในเร็ว ๆ นี้จะเปิดประมูลอีก 30,000 ตัน เป็นข้าวขาว 5% ซึ่งในส่วนของผู้ส่งออกไทยที่เข้าร่วมประมูลในช่วงหลังมีเพียงบริษัทเดียว คือบริษัทข้าวไชยพรฯ โดยตลาดอิรักต้องแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ขณะที่เป็นตลาดที่ยังมีปัญหาด้านการเงิน
โอกาสข้าวไทยมาถึงแล้ว
สำหรับสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยว่า ตัวเลขระหว่าง 1 มกราคม- 7 มิถุนายน 2553 มีการส่งออกแล้วประมาณ 3.5 ล้านตัน ขยายตัวลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่เวียดนามคู่แข่งสำคัญในช่วงเดียวกันมีการส่งออกแล้วประมาณ 3 ล้านตันเศษ ซึ่งภายในเดือนมิถุนายนนี้เวียดนามจะส่งมอบข้าวให้ฟิลิปปินส์ครบตามสัญญา จะมีผลทำให้ผลผลิตข้าวของเวียดนามลดลง และน่าจะเป็นโอกาสของไทย
"การส่งออกข้าวไทยในช่วงที่ผ่านมายังไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ที่ยังส่งออกได้ดีเป็นข้าวนึ่ง เพราะอินเดียยังไม่ส่งออก แต่ข้าวขาวยังค่อนข้างนิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ค้าหรือเทรดเดอร์ที่ค้าขายสกุลยูโร เจ็บตัวจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง และดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้เขาขาดทุน ดังนั้น ช่วงนี้ข้าวที่เขาขายออกไปเท่าไหร่ เขาก็ซื้อเข้าเท่านั้น ทำให้ตลาดยังฝืด แต่ครึ่งหลังคงดีขึ้น"
หวั่นราคาข้าวในทำเสียเปรียบ
นางสาวกอบสุข กล่าวถึงสถานการณ์ค้าข้าวในประเทศช่วงนี้ว่า จากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ ผลผลิตข้าวของไทยลดลง ส่งผลให้โรงสีต้องแย่งซื้อ ดันให้ราคาข้าวเปลือกในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 8,500 บาทต่อตัน(ความชื้นไม่เกิน 15% )จากสัปดาห์ที่แล้ว เฉลี่ยที่ 8,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้ราคาข้าวสารในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากกระสอบละ 1,260-1,270 บาท(กระสอบ 100 กก.) เป็น 1,300 บาท ขณะที่ 4 ฝ่ายประกอบด้วย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาไทย และหยง(ตัวแทนซื้อข้าว)ได้ประเมินผลผลิตข้าวเปลือกของประเทศไทย ช่วงจากนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม จะมีออกมาไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่น้อย หากยังเป็นเช่นนี้การแข่งขันส่งออกคงไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะข้าวไทยจะราคาสูงขึ้น แต่หากสถานการณ์ฝนดีขึ้น ผลผลิตอาจเพิ่มขึ้นและราคาข้าวจะอ่อนตัวลง
แจงส่งออกครึ่งแรกวืดเป้า
ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีแรกว่า ถึง ณ สิ้นเดือนมิถุนายนน่าจะส่งออกได้ประมาณ 4 ล้านตัน ต่ำกว่าคาดหมายไว้จะส่งออกได้ประมาณ 4.3-4.4 ล้านตัน มีสาเหตุจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ หนึ่ง ความต้องการนำเข้าและการบริโภคข้าวในตลาดโลกส่วนหนึ่งได้หายไป เนื่องจากหลายประเทศสามารถผลิตธัญพืชอื่น ๆ ที่มีราคาถูกกว่า และสามารถใช้บริโภคทดแทนข้าวได้เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นต้น
ประการที่สอง จากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในกรีซ และประเทศในยูโรโซน มีผลทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ทำให้ลูกค้าข้าวในแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สกุลยูโรในการเจรจาซื้อขายต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น เป็นเหตุให้ต้องชะลอการซื้อขาย และซื้อเท่าที่จำเป็น และประการที่สาม ราคาข้าวไทยเสียเปรียบเวียดนาม โดยช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวส่งออกของไทยจะสูงกว่าข้าวเวียดนามประมาณ 90-120 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ช่วงนี้ข้าวเวียดนามราคาสูงขึ้นเพราะสินค้าเริ่มมีน้อย ทำให้ราคาข้าวไทยเทียบข้าวเวียดนามห่างกันเพียงประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าห่างกันน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตามในภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวและทุกคนต้องการของถูก จึงทำให้ข้าวไทยยังขายยาก
ครึ่งหลังปรับตัวดีขึ้น
สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง นายชูเกียรติได้วิเคราะห์ว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรก มีปัจจัยสำคัญจากข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นพระเอกในการส่งออกข้าวของไทยในครึ่งแรกจะแข่งขันได้ดีขึ้น เนื่องจากเวลานี้ราคาข้าวนึ่งของไทยเทียบกับปากีสถานคู่แข่งสำคัญ ห่างกันเพียง 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยข้าวนึ่งไทยขายราคาเฉลี่ยที่ 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปากีสถานเฉลี่ยที่ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากก่อนหน้าราคาต่างกันกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งจากราคาที่ต่างกันน้อยลงและคุณภาพข้าวนึ่งไทยดีกว่า คู่ค้าน่าจะซื้อจากไทยเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันปกติในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของแต่ละปี เวียดนามคู่แข่งสำคัญจะส่งออกข้าวน้อยลง เพื่อไว้บริโภคในประเทศ และเพื่อป้องกันราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น โดยในปีนี้ได้จำกัดการส่งออกข้าวในไตรมาสที่ 3 ไว้ที่ 1.6 ล้านตัน และไตรมาสที่ 4 ลดเหลือ 1.2 ล้านตัน จะทำให้สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยปรับตัวดีขึ้น และดันราคาข้าวไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยมีโอกาสขึ้นไปอีก 20-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
"การส่งออกข้าวไทยครึ่งหลังน่าจะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านตัน รวมทั้งปีน่าจะได้ 8-8.5 ล้านตัน โอกาสที่จะมากกว่านี้คงยาก ยกเว้นเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น จีนเกิดสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก และมาขอซื้อปริมาณมาก พืชผลหรือธัญพืชอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและหันมาบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น เป็นต้น"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|