นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยเก็บข้าวสารไว้ในสต็อกของรัฐกว่า 5 ล้านตัน โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกประมูลข้าว เมื่อเดือนก.พ.จำนวน 5 แสนตัน ทำให้มีแรงกดดันต่อราคาข้าวไทยและข้าวในตลาดโลก แต่เชื่อว่าหลังจากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี รองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีแนวคิดที่จะให้ระบายข้าวออกจากสต็อก 50% เชื่อว่าจะลดแรงกดดันส่วนนี้และมีผลทำให้ราคาข้าวในตลาดเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนค่าเก็บข้าวในโกดัง ซึ่งปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บข้าวประมาณ 810 ล้านบาทต่อเดือน
“สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่เก็บไว้นานไม่ได้ เพราะจะเสื่อมคุณภาพ โดยเฉพาะข้าวในสต็อกที่รัฐบาลเก็บไว้ 5 ล้านตันนั้น ไม่ว่าจะขายตอนเดือนก.พ.หรือตอนนี้เราก็ขาดทุนเหมือนกัน ดังนั้น เราต้องมองในแง่ทำการค้าไม่ใช่เก็บไว้ ซึ่งถ้าคราวนั้นเราขายข้าวไปที่ราคาประมูล 1.5-1.6 หมื่นบาทต่อตัน เราก็ไม่ต้องขาดทุนถึง 5-6 พันล้านบาท เพราะตอนนี้ราคาข้าวมันตกลงมาอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาทต่อตันแล้ว ตนไม่เข้าใจว่า พอจะขายข้าวออกไป ก็พูดกันแต่เรื่องไม่ดี หรือพูดกันแต่เรื่องแย่ๆ นอกจากทำให้มีแรงกดดันจากสต็อกข้าวแล้ว ยังทำให้วันนี้ตลาดเราหายไปอีก เพราะตอนที่เขาจะซื้อแต่เราไม่ยอมขาย แต่ถ้าเราทยอยขายไปเรื่อยๆ ข้าวมันก็มีการเคลื่อนไหว ก็จะมีการไล่ซื้อ ราคาคงไม่เป็นอย่างนี้” นางพรทิวาระบุ
ชี้สต็อกรัฐกดราคาข้าวตลาดโลก
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า ตลาดโลกรับรู้มาตลอดว่าไทยมีข้าวในสต็อก 5.6 ล้านตัน และรอเวลาว่าเมื่อไหร่ รัฐบาลจะระบายข้าวในสต็อกออกมา ทำให้มีการหยุดการซื้อ เพราะต้องการซื้อข้าวในราคาถูก ขณะที่วิกฤติราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในปี 2550 ส่งผลให้หลายประเทศเร่งผลิตข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งเคยนำเข้าข้าวสูงสุด 3 ล้านตันต่อปี แต่ ณ วันนี้อินโดนีเซียผลิตข้าวเพียงพอต่อความต้องการและไม่จำเป็นต้องนำเข้าในปีนี้
ส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคหันไปบริโภคข้าวสาลี ทำให้ซัพพลายข้าว มีมากกว่าความต้องการ ซึ่งแม้ว่าปริมาณซัพพลายและความต้องการจะต่างกันไม่มาก แต่มีผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ราคาข้าวตกต่อเนื่อง
“เดิมเรามั่นใจว่าภัยแล้งและเพลี้ยระบาดในไทย และภัยแล้งในประเทศผู้ผลิตข้าว จะทำให้ผลผลิตน้อยลง ทำให้วงการข้าวมั่นใจว่าราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.7-1.8 หมื่นบาทต่อตัน แต่กลายเป็นว่าวงการข้าวคาดการณ์กันผิดทั้งหมด เพราะราคาข้าวมันเริ่มตกลงมาเรื่อยๆ หลังจากยกเลิกประมูลข้าวเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาลงมาเหลือ 1.23-1.25 หมื่นบาทต่อตันในขณะนี้” นายปราโมทย์ กล่าว
สถานการณ์ขณะนี้กลับไปสู่วงจรที่ทำให้โรงสี ผู้ส่งออก และผู้ซื้อข้าวต่างประเทศไม่กล้าซื้อข้าว เพราะซื้อข้าวมาเก็บไว้ในราคาสูง เช่น โรงสีมีการซื้อข้าวเก็บในสต็อก 1 ล้านตัน ที่ซื้อมาในราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนผู้ส่งออกมีข้าวในมือ 1.5 ล้านตัน และราคาซื้อมาอยู่ที่ 1.7 หมื่นบาทต่อตันเช่นเดียวกับผู้ซื้อในต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวไม่ขยับ
แนะเทสต็อก 1 ล้านตันรัฐต่อรัฐ
นายปราโมทย์ เสนอว่า รัฐบาลไทยควรระบายข้าวในสต็อกออกไปอย่างน้อย 1 ล้านตัน โดยเฉพาะการใช้แนวทางระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี เพื่อลดซัพพลายในสต็อก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น ขณะที่ไทยควรใช้ประโยชน์จากการระบายข้าวแบบจีทูจี คือ ไม่ต้องขายให้ได้ ราคาสูงสุด เพราะต้นทุนข้าวที่อยู่ในสต็อก ขณะนี้อยู่ที่ 2.2 หมื่นบาทต่อตัน
“ไม่ว่าจะขายที่ราคาเท่าใด ก็ต้องขาดทุนอยู่แล้ว เมื่อจะขายขาดทุน ก็ควรขายข้าวในราคามิตรภาพ แต่ควรใช้ประโยชน์ตรงนี้เจรจากับประเทศผู้ซื้อให้มีข้อตกลงซื้อขายข้าวในระยะยาว อาจมีข้อตกลงว่าในปีแรกขายในราคามิตรภาพ แต่ระยะต่อไปขายตามราคาตลาด ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีช่องทางในการระบายข้าวหรือบริหารจัดการข้าวในปีต่อๆ ไปด้วย” นายปราโมทย์ กล่าว
เก็บสต็อกสำรอง 2.5 ล้านตัน
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ต้องชี้แจงให้ตลาดได้รับรู้ว่า แม้ไทยจะมีข้าว 5.6 ล้านตัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยจะต้องขายข้าวในสต็อกทั้งหมด เพราะต้องเก็บไว้บริโภคในประเทศ เช่น ข้าวหอมปทุมธานี 6.5 แสนตัน ข้าวเหนียว 1.5 แสนตัน ข้าวที่ต้องนำไปทำข้าวถุง 60 ล้านถุง ในโครงการแจกข้าวจากวันแม่ถึงวันพ่อ 6 หมื่นตัน และข้าวที่เสื่อมคุณภาพ 4-5 หมื่นตัน รวมแล้วข้าวสารส่วนนี้ ก็คิดเป็นปริมาณเกือบล้านตันแล้ว
ขณะเดียวกัน ไทยต้องมีการกันสำรองข้าวไว้ในสต็อก เพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ 2-2.5 ล้านตัน เพราะเป็นที่ทราบกันว่าปีหน้าผลผลิตข้าวจะลดลงเพราะภัยแล้ง จึงเหลือข้าวสารในสต็อกที่จะระบายออกสู่ตลาดเพียง 2 ล้านตันเท่านั้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและตรวจสอบข้าวสารในสต็อกข้าวของรัฐบาล ที่มีอยู่กว่า 5 ล้านตัน เพื่อสำรวจปริมาณและคุณภาพข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลทั้งหมด ว่า เป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปีประจำปี 2553/2554 จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้นายกฯ ยังสั่งการให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการระบายสินค้าเกษตร ทั้งข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาลเป็นจำนวนมากโดยเร็ว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |