นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 (ปี 2552 – 2556) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ระยะเวลาเริ่มต้นโครงการในปี 2552 ภายใต้การกำกับดูแลและให้ความเห็นจากคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งล่าสุดมีมติเห็นชอบให้ขยายขอบเขตเป้าหมายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในโครงการฯ โดยพิจารณาส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพิ่มเติมอีก 4 แสนไร่ ในช่วง 3 ปี คือ ปี 2554-2556 ทั้งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และในโครงการดังกล่าวนี้ ได้มีการเริ่มต้นโครงการข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่เป้าหมาย 157,000 ไร่ โดยแยกเป็นรายจังหวัด โดยแยกเป็นรายจังหวัด ได้แก่ 1) สุรินทร์ รวมพื้นที่ 90,000 ไร่ 2) ร้อยเอ็ด รวม 40,000 ไร่ 3) ศรีสะเกษ รวม 6,000 ไร่ 4) ยโสธร รวม 9,000 ไร่ และ 5) มหาสารคาม รวม 12,000 ไร่ ซึ่งโครงการที่ได้กล่าวนี้ ได้มีการร่วมประชุมกับทางจังหวัดดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัดเจ้าภาพเหล่านั้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เชื่อว่า โครงการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ จะได้รับความนิยมจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่ชัดเจน จากข้อมูลในปัจจุบันวันนี้ ปรากฏชัดเจนว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ในทุ่งกุลาร้องไห้มีราคาสูงกว่าข้าวเปลือกทุกชนิด มีราคาสูงถึง 17,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้มีราคา 14,400 บาทต่อตัน และข้าวหอมมะลิทั่วไปมีราคาเพียง 13,232 บาทต่อตัน เพื่อให้การดำเนินงานและเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีความชัดเจน เนื่องจากการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ต้องอาศัยความสมัครใจของเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ เป็นหลัก จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประสานงานกับส่วนราชการในจังหวัด พิจารณายกร่างแผนปฏิบัติงาน กิจกรรม และงบประมาณดำเนินการ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานเป็นรายอำเภอ ตำบลให้ชัดเจนในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2554-2556 เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานข้างต้น เสนอขอจัดสรรงบประมาณ ปี 2555 ภายใต้โครงการฯ และในแผนปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป
ที่มา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |