www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

รัฐดิ้นแก้ข้าวเปลือกราคาตกหนัก กขช.ยอมโรงสีปรับเกณฑ์อ้างอิงบวกเพิ่ม 300 บาท


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในต้นสัปดาห์นี้เพื่อรับมือราคาข้าวภายในประเทศตกต่ำ ขณะที่ชาวนาก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้เข้ามาพยุงราคาข้าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ใช้เกณฑ์ราคาอ้างอิงข้าวภายใน โครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยให้ยึดราคาตลาดย้อนหลัง 7 วัน ส่งผลให้ราคาอ้างอิงรอบวันที่ 26 เมษายน-2 พฤษภาคม 2553 ข้าวเปลือกความชื้น 15% (รอบที่ 1) ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,210 บาท ชดเชย ตันละ 2,790 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานี 9,292 บาท ชดเชย 708 บาท, ข้าวเปลือกเหนียว 11,106 บาท ไม่ต้องชดเชย กับ ข้าวเปลือกความชื้น 15% (รอบที่ 2) ข้าวเปลือกเจ้า 7,210 บาท ชดเชย 2,790 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานี 9,292 บาท ชดเชย 1,708 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 11,106 บาท ไม่ต้องชดเชย

พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากเกษตรกร โดยเร่งรัดให้โรงสี-องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เปิดจุดรับซื้อเพิ่มเติมในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ที่มีผลผลิตข้าวนาปรังปี 2553 ออกมาภายใน 3 วัน โดยให้รับซื้อเท่ากับราคาอ้างอิง แต่เพื่อจูงใจโรงสีในการรับซื้อข้าว กขช.จึงมีมติให้สั่ง สีแปรสภาพข้าวสัดส่วน 20-30% ของปริมาณ 1,000 ตันที่โรงสีรับซื้อ โดยโรงสีจะได้รับค่าสีแปรสภาพข้าว 500 บาท/ตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะออกหลักเกณฑ์ในการสีแปรสภาพข้าวต่อไป

นอกจากนี้ กขช.ยังเห็นชอบมาตรการแลกข้าวในสต๊อกรัฐบาล โดยให้โรงสีและ ผู้ประกอบการที่ซื้อข้าวเปลือกในราคา นำตลาด คือ ราคาอ้างอิงบวกเพิ่มอีก 300 บาท/ตัน สามารถนำข้าวที่มีความชื้น 15% ผ่านการสีแปรนำมาแลกข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาลได้สัดส่วน 1 ต่อ 1 ภายใต้เงื่อนไขข้าวนาปรังชนิดเดียวกันเท่านั้น "มาตรการการแลกข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาล แม้จะมีต้นทุนและคุณภาพเหมาะกับการนำมาขายในประเทศ แต่เชื่อว่าไม่กระทบกับราคาข้าวภายใน เพราะโรงสีคงไม่นำมาขายทันที และคาดว่าปริมาณข้าวที่โรงสีจะซื้อข้าวในตลาดและนำมาแลกมีปริมาณที่ 1.8 ล้านตันข้าวเปลือกเท่านั้น หรือประมาณ 1 ล้านตันข้าวสาร" นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ส่วนการบริหารจัดการสต๊อกข้าวที่เหลือ จะใช้วิธีเสนอขายรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งจะมีการหารือในหลักการของการขายที่ต้องอยู่ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมครั้งต่อไป

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสี กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปรังปี 2553 ปริมาณ 12 ล้านตันข้าวเปลือก สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 8.3 ล้านตัน โดยเป็นเกษตรกรประมาณ 800,000 ราย เฉลี่ยรายละ 15 ตัน หากคำนวณว่ารัฐบาลต้องจ่ายชดเชยข้าวในราคาตันละ 2,790 บาท เท่ากับรัฐบาลจะต้องใช้เงินถึง 30,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงทุกคนทราบดีว่า ชาวนาแจ้งตัวเลขข้าวนาปรังเกินจริง เนื่องจากปลูกเกินกว่าเกณฑ์ที่แต่ละรายจะได้รับการชดเชย (25 ตัน) วิธีดังกล่าวจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเกษตรกรที่ปลูกข้าวจริงกับเกษตรกรที่แจ้งตัวเลข "ข้าวลม" ออกมา

"การจ่ายชดเชยเป็นการให้เงินชาวนา แต่ไม่ได้ทำให้ราคาตลาดสูงขึ้น ชาวนาคนที่ปลูกข้าวจะได้ชดเชย แต่คนปลูกข้าวเกิน 25 ตันขึ้นไปจะได้ราคาตลาด ทำให้ชาวนาได้เงินน้อยลงและข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่เก็บไว้เกือบ 6 ล้านตัน แล้วยังมีข้าวในมือโรงสีและผู้ส่งออกอีก จะได้รับผลสะท้อนจากราคาข้าวในตลาดที่อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากโครงการประกันไม่ทำราคาข้าวสูงขึ้น"

อีกทั้งมาตรการข้าวใหม่นำมาแลกข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาลที่นำมาใช้นั้น ไม่ได้ดูดซัพพลายออกจากตลาด เหมือนกับมือขวาดึงข้าว มือซ้ายจ่ายออก ข้าวส่วนเกินก็ยังหมุนเวียนในตลาดเหมือนเดิม

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.