นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (29 ม.ค.) ว่า กขช.ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐที่มีจำนวน 5-6 ล้านตัน เนื่องจากตนต้องการทราบว่า ในการประเมินคุณภาพข้าวนั้น มีหลักทางวิชาการอย่างไร โดยเฉพาะตนต้องการทราบว่าข้าวที่เก็บรักษาไว้ในสต็อก จะมีค่าความเสื่อมกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี หากมีเกณฑ์ที่ชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ในการต่อรองราคากับเอกชน ซึ่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปกำหนดเกณฑ์ค่าเสื่อมภายใน 1 สัปดาห์
การระบายข้าว 3.75 แสนตัน ที่กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกการผลการประมูล เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะกำหนดการเปิดประมูลข้าวล็อตนี้ครั้งใหม่ แต่ยังคงเงื่อนไขเดิม คือ ราคาข้าวที่ประมูลได้นั้นจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด
เขาได้ให้นโยบายกับที่ประชุมว่า การเปิดประมูลหรือขายข้าวล็อตต่อไป ต้องกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล เป็นผู้ที่มีการซื้อขายข้าวสารในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) เพื่อให้สะท้อนราคาข้าวที่แท้จริงในตลาด
"เราต้องการใช้ราคาข้าวที่ซื้อขายในตลาดเอเฟท เป็นราคาอ้างอิงในการขายข้าวของรัฐบาล ที่ผ่านมาเอกชนมุ่งแต่จะมาประมูลข้าวในสต็อกของรัฐ ซึ่งวันนี้โบรกเกอร์ในตลาดเอเฟท ที่เคยมีมากถึง 26 รายลดลงเหลือเพียง 5-6 รายเท่านั้น ขณะที่การประมูลข้าวจากรัฐนั้น เอกชนจะพยายามกดราคาข้าวโดยอ้างค่าเสื่อมบ้าง ข้าวไม่ได้คุณภาพบ้าง แต่ต่อไปนี้เราจะมีเกณฑ์ค่าเสื่อมกลาง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้รัฐใช้ในการต่อรองราคาข้าวได้ "นายไตรรงค์กล่าว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า กขช.มีมติเห็นชอบกำหนดพันธุ์ข้าวคุณภาพต่ำและมีอายุสั้น หรือมีอายุไม่เกิน 100 วัน ไม่ให้เข้าโครงการประกันรายได้ จำนวน 10 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวพันธุ์ 75 ข่าวพันธุ์ซี 75 ข้าวพันธุ์ราชินี ข้าวพันธุ์พวงทอง ข้าวพันธุ์พวงเงิน ข้าวพันธุ์พวงเงินพวงทอง ข้าวพันธุ์พวงแก้ว ข้าวพันธุ์ขาวปทุม ข้าวพันธุ์สามพราน 1 และข้าวพันธุ์มาเลเซีย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวคุณภาพต่ำ
นายอภิชาต ระบุว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการรองรับการเปิดเสรีนำเข้าข้าวภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) โดยให้นำเข้าข้าวได้ เฉพาะข้าวสารที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสำหรับคนเท่านั้น โดยไม่กำหนดปริมาณนำเข้า แต่กำหนดด่านนำเข้า 1.ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว 2.ด่านหนองคาย จ.หนองคาย 3.ด่านแม่สาย จ.เชียงราย 4.ด่านแม่สอด จ.ตาก 5.ด่าน อ.เมือง จ ระนอง และ 6.ด่านคลองเตย กรุงเทพฯ พร้อมกำหนดให้นำเข้าข้าวได้เฉพาะเดือนพ.ค.-ก.ค. และเดือนส.ค.-ต.ค. รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของผู้นำเข้าข้าวด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |