นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.วานนี้ (29 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมรับทราบยุทธศาสตร์ระบายข้าวสารตามโครงการแทรกแซงของรัฐบาล โดยให้ระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลตามมติ ครม.วันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีตามยุทธศาสตร์ด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงผลกระทบต่อราคาตลาด โดยให้คณะทำงานระบายข้าวสารเป็นผู้ดำเนินการ และเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาข้าวสารอนุมัติก่อนรายงานประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หรือรองประธาน กขช.ก่อนลงนามกับคู่สัญญา
ส่วนกรอบยุทธศาสตร์ระบายข้าวสารดังกล่าว มีเป้าหมายระบายข้าวให้กระทบราคาในประเทศน้อยที่สุด ลดภาระเก็บสต็อกข้าว ลดภาระขาดทุนของภาครัฐ และรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลก ดังนั้น จึงได้กำหนดแนวทางระบายข้าวสาร เช่น ต้องเกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลเลือกระบายข้าวทั้งข้าวสารและข้าวเปลือก โดยพิจารณาความต้องการของตลาด เปิดกว้างให้ระบายทั้งข้าวเพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศ คำนึงถึงราคาที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กเสนอราคาได้ทั่วถึง
ขณะที่การระบายข้าวสามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง เช่น ในรูปจีทูจี เปิดโอกาสให้เอกชนปรับปรุงข้าวในสต็อกรัฐบาลเพื่อส่งมอบ เพราะเอกชนมีความคล่องตัวและส่งมอบข้าวได้ตามเงื่อนไขผู้ซื้อ เปิดให้ผู้สนใจเสนอปริมาณและราคาที่ต้องการซื้อ โดยรัฐบาลกำหนดเกณฑ์ราคาพื้นฐาน รวมทั้งเสนอ ขายข้าวในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) ส่วนปริมาณระบายข้าวพิจารณาภาวะตลาดและจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบราคาในประเทศ โดยคำนึงถึงภาวะ "Price Leader" ของไทยในตลาดโลก
นายวัชระ กล่าวอีกว่า ครม.ยังเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2553/2554 ด้วยวิธีประกันรายได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2553/2554 กำหนดราคาประกันความชื้น 14.5% กก.ละ 7.14 บาท ใช้เกณฑ์ต้นทุนเฉลี่ยทั้งประเทศ (5.46 บาทต่อ กก.) บวกค่าขนส่ง (0.25 บาทต่อ กก.) และผลตอบแทนเกษตรกร 25% (1.43 บาทต่อ กก.) ส่วนเกษตรกรรายครัวเรือนใช้สิทธิรับเงินส่วนต่างราคาประกันได้ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ตัน คิดเป็นพื้นที่ปลูก 25-30 ไร่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|