www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ผ่านโยบายข้าว 'ชาวนา' แค่เป้าหาเสียง


พลันที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 พฤษภาคม 2554 และกำหนดวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เทศกาลหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มขึ้นกันอย่างครึกโครม ยิ่งนับจากวันนี้เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน การหาเสียงยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น เพื่อหวังจะช่วงชิงคะแนนเสียง 47 ล้านคะแนน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ และปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายประชานิยมหรือประชาวิวัฒน์ ถูกนำมาใช้มากที่สุด โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคการเมืองทุกพรรค
 
สำหรับ"ข้าว"ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นพืชการเมืองไปแล้วนั้น ถูกนำมาเป็นไฮไลต์หาเสียงของทุกพรรคการเมืองในครั้งนี้ แต่หลังจากที่ทุกพรรคประกาศนโยบายข้าวออกมา มีคำถามเกิดขึ้นทั่วทิศเมืองไทยว่า สิ่งที่ประกาศออกมานั้นในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือ? มีวิธีการอย่างไร? หรือเพียงแค่ดึงชาวนามาเป็นเครื่องมือหาเสียง? และหากให้ชาวนาได้ราคาข้าวสูง แต่ไปกระทบธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ โรงสี ผู้ส่งออก จะมีมาตรการสร้างสมดุลธุรกิจทั้งระบบอย่างไร เพราะธุรกิจเหล่านี้เกื้อกูลกันอยู่ หากอยู่ได้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลต้องนำงบประมาณ ซึ่งก็คือภาษีประชาชนทั้งประเทศไปโอบอุ้ม

+เปิดนโยบายข้าว:
 
นโยบายข้าวที่แต่ละพรรคประกาศออกมาจัดได้เป็นสองรูปแบบ คือ รูปแบบประกันรายได้  ที่พรรคประชาธิปัตย์กล้าเปลี่ยนระบบ จากการรับจำนำที่ใช้มาตั้งแต่อดีต ในห้วงการเป็นรัฐบาลเมื่อช่วงสองปีที่ผ่านมา กับรูปแบบที่สองคือ การรับจำนำ แต่เป้าหมายหลักต่างต้องการชี้ไปที่ให้ชาวนาได้รับราคาข้าวสูง

โดยพรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่า ถ้าได้รับเลือกกลับมาเป็นรัฐบาลต่อ จะใช้นโยบายประกันรายได้ต่อไป เหมือนกับที่ทำในช่วงสองปีที่ผ่านมา กำหนดราคาประกันรายได้สำหรับข้าวเปลือกเจ้า ซึ่งเป็นชนิดข้าวที่ปลูกกันมากที่สุด ที่ตันละ 11,000 บาท เกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้รายละ 30 ตัน ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ ยังนำผลงานที่ได้ทำช่วงสองปีมารับประกันว่า ที่ผ่านมาเม็ดเงินจากโครงการประกันรายได้ 58,000 ล้านบาท ถึงมือเกษตรกรทุกคน
 
ด้านพรรคเพื่อไทยประกาศจะปลุกผีโครงการรับจำนำขึ้นมาใหม่  โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ  ทั้งยังจะออกบัตรเครดิตให้เกษตรกรไปใช้ซื้อปัจจัยการผลิต
 
ส่วนพรรคภูมิใจไทย นอกจากอ้างถึงเรื่องที่ได้ทำมาแล้ว  และจะทำต่อไปสำหรับชาวนา คือประกันรายได้ ส่วนเรื่องใหม่ที่ชูขึ้นมา และบอกว่ากล้าพูดและกล้าทำให้คนไทย คือ จะตั้งกองทุนประกันราคาสินค้าเกษตร ข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท พรรคชาติไทยพัฒนา ประกันราคาข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท เป็นต้น เป็นการเกทับเพื่อเรียกคะแนนนิยมกันสุดๆ  

+ความต้องการแท้จริง:
 
จริงอยู่ที่การขายข้าวได้ราคาสูง เป็นสิ่งที่ชาวนาทั่วประเทศมีความต้องการ แต่จะได้ประโยชน์อะไร หากว่าชาวนายังมีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ตั้งแต่การลงทุนซื้อน้ำมัน ซึ่งนับวันจะมีราคาสูงขึ้น เพื่อสูบน้ำเข้านา เพราะระบบชลประทานยังไม่ทั่วถึง ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 130 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานเพียง 30 ล้านไร่เศษ ซึ่งพื้นที่ในเขตชลประทานยังต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากคลองชลประทาน เพราะระบบชลประทานที่มีอยู่ยังไม่สามารถปล่อยน้ำถึงที่นาได้ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทานยังต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว
 
แม้ว่าระบบชลประทานขนาดใหญ่จะเกิดได้ยากในยุคปัจจุบัน แต่ระบบชลประทานขนาดเล็ก หรือนโยบายบริหารจัดการน้ำ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญน้อยมาก อาจจะเป็นเพราะว่า เป็นนโยบายไม่ประชานิยมเหมือนโครงการที่เล่นกับเรื่อง "ราคา"  เช่น พรรคชาติไทยพัฒนาระบุพัฒนาแหล่งน้ำ 1.7 ล้านล้านบาท พรรคภูมิใจไทยสร้างทางน้ำเข้าไร่ นา  ซึ่งไม่ได้ทำเป็นแคมเปญโดดเด่นเหมือนกับแคมเปญ "ราคาข้าว"
 
อกจากนี้การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กองทุนสวัสดิการชาวนา วิธีการจัดหาปัจจัยการผลิตในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป การประกันภัยพืชผล เพราะอาชีพทำนาทุกวันนี้มีความเสี่ยง จากสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน และการระบาดของแมลงศัตรูพืช วัชพืช ที่สำคัญเลยนั้น ควรยกระดับอาชีพชาวนา ให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เพราะเขาคือเจ้าของโรงงานผู้ผลิตข้าวที่นำเงินตราเข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคการเมืองควรทำ จึงไม่ใช่การมุ่งทำให้ชาวนามีรายได้จากราคาข้าวสูงอย่างเดียว แต่ต้องมีมาตรการช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับชาวนาด้วย หากชาวนามีต้นทุนต่ำ ถึงแม้ราคาข้าวจะไม่สูง แต่ชาวนาผลิตแล้วมีกำไร เหล่านี้คือแก่นแท้ที่เกษตรกรต้องการต่างหาก เพราะเป็นหนทางที่จะสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับชาวนาไทยตลอดไป
+หวั่นกระทบส่งออก:
 
นอกจากนี้การชูนโยบาย "ราคาข้าว (สูง)" ยังได้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในวงการค้าข้าว นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า นโยบายข้าวของแต่ละพรรคการเมืองมีความแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จาก พรรคประชาธิปัตย์ยังคงเดินหน้าประกันรายได้ แต่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายรับจำนำ หรือพรรคอื่น ๆ ที่ต่างชูให้เกษตรกรได้รับราคาข้าวสูง แต่ขณะนี้แต่ละพรรคไม่มีรายละเอียดของวิธีการดำเนินการ หากชาวนาได้รับราคาสูงแล้ว จะมีนโยบายด้านการส่งออกอย่างไร เพราะถ้าวัตถุดิบหรือราคาข้าวในประเทศสูง ผู้ส่งออกจะแข่งขันได้ลำบาก
 
"ขณะนี้สมาคม อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวกับข้าว ได้แก่ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมชาวนาไทย สมาคมผู้ประกอบการค้าข้าวถุงไทย  จัดสัมมนาโดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมือง หรือทีมเศรษฐกิจ ที่ทำเกี่ยวกับนโยบายข้าวของแต่ละพรรค มาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หากให้ชาวนามีรายได้จาก "ข้าว" สูง วิธีการทำอย่างไร ขั้นตอนต่อไปที่เกี่ยวกับโรงสี ผู้ส่งออก จะทำอย่างไร เพื่อโรงสีและผู้ส่งออกจะได้วางแผนธุรกิจได้อย่างถูกต้อง"
  
การออกมาตั้งท่าของผู้ส่งออกว่า หากราคาข้าวสูงจะเกิดการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งลำบาก หากพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่ได้ศึกษาครบวงจร คือ ชาวนาขายข้าวเปลือกราคาสูง (อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล) โรงสีจะต้องทำอย่างไร ผู้ส่งออกทำอย่างไร หากถึงวันที่เข้ามาบริหารประเทศจริง ต้องมีการฟังเสียงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากไม่สามารถกำหนดราคาข้าวสูงไว้อย่างที่ประกาศหาเสียง ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้เกษตรกรชาวนาเป็นเครื่องมือหาเสียง หรือหากทำได้ ก็กลายเป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ

+กูรูข้าววิพากษ์:
 
ด้านรศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า นโยบายข้าวที่แต่ละพรรคการเมืองประกาศออกมานั้น เป็นการ "ขายฝัน" นักการเมืองไม่ได้ทำการบ้านอย่างครบวงจร ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ จะกระทบอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ และโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรของไทยทั้งระบบด้วย  กล่าวคือ ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันได้
 
ในที่สุดรัฐบาลต้องอุดหนุนที่ผ่านมารัฐบาลได้อุดหนุนไปแล้วปีละ 60,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้อุดหนุนชาวนาไทยอย่างเดียว แต่ไปอุดหนุนผู้บริโภคข้าวต่างประเทศด้วย เนื่องจากได้บริโภคข้าวไทยราคาถูก กระทบโครงสร้างการผลิต คือการที่ชาวนาได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ทำให้เกษตรกรปลูกพืชอื่น หันมาปลูกข้าวกันมากขึ้น ผลผลิตพืชชนิดอื่นลดลง โครงสร้างที่กำลังเปลี่ยนเช่นนี้เป็นอันตรายต่อประเทศเป็นอย่างมาก
 
"สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญสำหรับ "ข้าว" และ "ชาวนา" คือ ราคาข้าวที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ระดับตันละ 10,000-11,000 บาท เพราะต้นทุนการผลิตของชาวนาอยู่ที่ตันละ 6,000 บาท เท่ากับชาวนาได้กำไร 40%  สามารถอยู่ได้แล้ว แต่ทั้งนี้ชาวนาต้องดูแลเอาใจใส่พื้นที่นาอย่างจริงจัง มีการกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง หากผลผลิตต่อไร่สูง เกษตรกรจะได้กำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่การที่รัฐบาลตั้งราคาข้าวสูง มีแต่ผลลบทั้งบิดเบือนกลไกตลาด เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ"
 
นโยบายข้าวของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ควรต้องคิดอย่างรอบด้าน เพราะการวางนโยบายข้าวผิดกระทบเศรษฐกิจทั้งประเทศได้

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.