|
กขช.ประกันข้าว 2 ล.ตันชดเชยอ่วม สมาคมโรงสีชี้ช่องโหว่ไม่มีราคาขั้นต่ำทำตลาดป่วน
|
นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติอนุมัติมาตรการพยุงราคาข้าวด้วยวิธีตั้งโต๊ะรับซื้อไม่เกิน 2 ล้านตัน ระหว่างนี้-ตุลาคม กำหนดเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีปัญหาราคาตกต่ำ หลังประเมินสถานการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีในประเทศจะลดลง 1.1 ล้านตัน แต่นักวิชาการเกษตรเชื่อช่วงข้าวนาปรังผลผลิตจะเพิ่มขึ้นต้นปีนี้ 9.516 ล้านตัน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติให้ใช้วิธีซื้อข้าวสารจากโรงสีผู้ส่งออก 2 ล้านตัน มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เพราะไม่ต้องการแบกสต๊อกเสียค่าจัดเก็บและเสี่ยงเรื่องคุณภาพข้าวเสื่อม
ที่ประชุมกขช.ยังมีมติให้รักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2553-2554 ด้วยมาตรการอื่น ๆ 1.เพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการค้าข้าวที่รับซื้อข้าวเปลือกในตลาดกลางช่วงมกราคม-เมษายน โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวร้อยละ 2 ต่อปี และรับซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาดตันละ 100-200 บาท 2.จัดตลาดนัดข้าวเปลือกช่วงมกราคม-ตุลาคม 3.รับฝากข้าวในยุ้งฉางเกษตรกรเพื่อรอจำหน่ายช่วงมกราคม-ตุลาคม ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรับฝากข้าวในยุ้งฉางเกษตรกรราคาต่ำกว่าราคาประกันรายได้ร้อยละ 20 และให้เก็บค่ารักษาตันละ 1,000 บาท รวมทั้งให้ภาครัฐกับเอกชนส่งออกแบบจีทูจี
นายชาญชัย รักษธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า แม้ว่าจะอนุมัติให้โรงสีในพื้นที่ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อดูดปริมาณข้าว (supply) ส่วนเกินออกจากตลาด โดยให้วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 2% แต่โรงสีอาจไม่เข้าไปรับซื้อจริง เพราะแนวโน้มราคาข้าวในตลาดไม่มีเสถียรภาพ ขาดการกำหนดราคาขั้นต่ำ ในช่วงมีนาคม-เมษายน เมื่อผลผลิตออกมามาก และรอบการผลิตใหญ่ในเวียดนามออกมาพร้อม ราคาอาจจะลดลงอีกก็เป็นได้
ขณะนี้ปริมาณข้าวในตลาดมีมาก จากการที่รัฐบาลระบายสต๊อกก่อนหน้านี้ 4-5 ล้านตัน เพิ่งส่งออกได้แค่ 1 ล้านตัน ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ข้าว สต๊อกนี้ยังวนเวียนอยู่ในตลาด 3-4 ล้านตัน มีโอกาสถูกนำออกขายเพื่อสับเปลี่ยนกับข้าวใหม่ในตลาด
"ในภาวะผันผวนโรงสีจะไม่เสี่ยงซื้อสต๊อกเก็บแบบปกติไว้ 80% ต้องใช้วิธีซื้อมาขายไป ดูแนวโน้มการตั้งราคาซื้อของผู้ส่งออกก่อน หากถูกเวียดนามขายตัดราคาต่ำแล้วคิดทอนกลับไป ก็จะดูเหมือนโรงสีกดราคารับซื้อข้าวเปลือกลงอีก แต่เกษตรกรไม่กระทบเนื่องจากรัฐเป็นเจ้าภาพจ่ายค่าชดเชยให้เท่าเดิม ส่วนประเทศรายได้จะลดลง เพราะต่างประเทศจะรอดูจนราคาต่ำสุดถึงซื้อ"
นายชาญชัยกล่าวว่า แนวทางการกำหนดราคาขั้นต่ำสามารถทำได้ 2 แบบ คือราคาขั้นต่ำการส่งออก อินเดียและเวียดนามเคยใช้ หรือราคาขั้นต่ำการซื้อข้าวเปลือกในประเทศ เช่น ราคาประกันข้าวเจ้าตันละ 10,000 บาท รัฐบาลคำนวณจากต้นทุนบวกกำไรให้ 40% ระบุเงื่อนไขขั้นต่ำ 9,000 บาท จะเข้าไปตั้งโต๊ะรับซื้อไว้ทั้งหมด ส่วนวิธีป้องกันไม่ให้ราคาไหลลง เรื่อย ๆ ตอนนี้โรงสีกำหนดซื้อราคาตันละ 9,200 บาท ชดเชย 1,500 บาท
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ 3.7 ล้านคน เริ่ม 1 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรองรับข้าวเปลือกนาปรังปีการผลิต 2554 ออกสู่ตลาดปลายกุมภาพันธ์ 8-9 ล้านตันข้าวเปลือก
จะมีโรงสีข้าวเข้าร่วมโครงการมากกว่าครั้งที่ผ่านมา 900 โรง ส่วนภาคใต้ผลิตได้ไม่เพียงพอกับผลผลิตที่ออกมามาก จึงเพิ่มวงเงินชดเชยนำไปปรับปรุงเครื่องจักร 3% ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดซึ่งเดิมมีแค่พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ส่งผลให้โรงสีข้าวภาคใต้พร้อมเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ราว 90 โรง จาก 100 กว่าโรง เพราะประหยัดค่าขนส่ง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้งบประมาณเพิ่มเติม 600 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลกำหนดวงเงินไว้ 40,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 3 รายการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 30,000 ล้านบาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@thairiceexporters.or.th
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|