www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

อินเดียขย่มตลาดข้าวไทย จ่อสูญแชมป์ปีหน้ายอดหด20%


ตลาดข้าวโลกป่วนอินเดียหวนคืนเวที  ผลิตเหลือกินไฟเขียวเปิดเสรีส่งออก ทำคู่ค้าข้าวไทยในตลาดแอฟริการะส่ำ ฉุดออร์เดอร์รูด  ผู้ส่งออกข้าวชี้โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลฟาดหางซ้ำ ดันต้นทุนแพง คาดส่งออกข้าวปีหน้าร่วง 20 % หวั่นไทยสูญตำแหน่งผู้นำตลาดข้าวโลก  ขณะที่โรงสีเผยสต๊อกข้าวในโกดัง จะหมดสิ้นเดือนตุลาคมนี้   หลายสิบโรงนั่งตบยุงไม่มีปัญญาแย่งซื้อข้าวจากชาวนาแข่งกับรัฐบาล  
 
การประกาศเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต 2554/55 ของรัฐบาลเพื่อไทย ที่จะเริ่มเดินเครื่องในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 โดยเปิดรับจำนำข้าวขาวราคาตันละ 15,000 บาท และข้าวหอมมะลิที่ราคาตันละ 20,000 บาท แม้จะมีเสียงท้วงติงจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ที่เรียกร้องให้ทบทวนโครงการนี้เสียใหม่ก็ตาม ท่ามกลางการจับตามองของตลาดข้าวทั่วโลก เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ 
 
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกข้าวหลายรายชี้ว่า จากระดับราคารับจำนำดังกล่าว ตลาดทั่วโลกรับรู้ว่า ข้าวขาวไทยจะมีต้นทุนที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา สูงกว่าระดับราคาตลาดโลกที่อยู่ที่ระดับ 600-650 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และไม่เชื่อว่าจะสามารถดึงราคาตลาดโลกให้สูงขึ้นได้ แต่กลับเปิดโอกาสให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่น อาทิ เวียดนาม สามารถแย่งชิงตลาดข้าวไทยมากขึ้น นอกจากนี้ประเทศอินเดียซึ่งห้ามส่งออกข้าวมา 3 ปีเต็มนั้น ล่าสุดผลผลิตพอบริโภคในประเทศแล้ว ได้เปิดให้ส่งออกข้าวได้อย่างเสรี จนเป็นที่วิตกว่าไทยอาจสูญเสียบทบาทในเวทีตลาดข้าวโลกจากนี้ไปนั้น
 
-อินเดียเปิดส่งออกข้าวเสรี 
 
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้ทราบข่าวมาจากคู่ค้าที่ขายข้าวให้กับไทยในแถบทวีปแอฟริกาว่า ขณะนี้รัฐบาลอินเดียไฟเขียวให้ผู้ส่งออกของอินเดีย ขายข้าวไม่จำกัดชนิดและปริมาณ ส่งผลทำให้คู่ค้าที่เคยขายข้าวนึ่งให้กับไทยกังวลว่า จะกระทบตลาดส่งออกข้าวนึ่งของไทยในแอฟริกา ซึ่งมีประมาณปีละ 1.7 ล้านตัน จากเดิมที่อินเดียปิดตลาดส่งออกมา 3 ปี เพราะผลผลิตในประเทศไม่พอบริโภค  ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ สามารถส่งออกข้าวไปขายทดแทนในตลาดนี้ค่อนข้างมาก รวมถึงในบังกลาเทศ  ดังนั้น หากอินเดียเปิดตลาดกลับมาขายข้าวได้ใหม่ บังกลาเทศ และประเทศแถบแอฟริกา อาจหันกลับไปซื้ออินเดียเหมือนเดิม เพราะข้าวอินเดียราคาถูกกว่าข้าวไทย 
 
โดยปัจจุบันราคาข้าวนึ่งไทยส่งมอบที่ท่าเรือ (ราคาเอฟโอบี) ตันละ 500-550 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ของอินเดีย เอฟโอบี ตันละ 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งข้าวนึ่งไทยกับอินเดีย โดยเฉลี่ยจะต่างกัน ประมาณ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และหากรัฐบาลมีการจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท จะทำให้ราคาข้าวนึ่งไทยกับข้าวนึ่งอินเดียต่างกันกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ
 
"คู่ค้าของเราก็ลำบาก เพราะเขามีข้าวไทยต้นทุนสูงอยู่ในมือจำนวนมาก  ขณะที่เจ้าเดิมที่เคยครองตลาดกำลังจะกลับมา ถ้าเขาหันไปซื้อข้าวอินเดียใหม่ทันทีเต็มจำนวนก็ลำบาก เพราะต้องแบกภาระสต๊อกข้าวไทยที่ค้างอยู่จำนวนมาก แต่ระดับราคาที่ต่างกันมากก็จูงใจให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันกลับไปซื้อข้าวอินเดียมากขึ้นแน่"

-โอดบิดเบือนกลไกราคา
 
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวอีกว่า  ต่อไปจะวางตำแหน่งข้าวนึ่งไทยไว้จุดไหน เพราะที่ผ่านมาก็ลงทุนทำการตลาดกับข้าวไทยมากพอสมควร ผู้ส่งออกเองก็ลำบาก เพราะต้องกังวลทั้งสถานการณ์โลก และยังมีปัจจัยภายในเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลจะเริ่มเดินหน้า คาดว่าผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2554 นี้ เพราะข้าวในสต๊อกของผู้ส่งออกจะทยอยหมด  ยกเว้นในรายที่ตุนข้าวไว้ แล้วนำมาเฉลี่ยกับข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่จะแพงขึ้นตามราคารับจำนำของรัฐบาล ที่ยังพอไปได้  ดังนั้น ในปีนี้คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวไทยจะมีประมาณ 10-11 ล้านตัน"

-ข้าวไทยส่งออกลด 20%
 
อย่างไรก็ตามก็ต้องรอดูว่า ตลาดโลกรับราคาข้าวไทยได้หรือไม่ ถ้ารับได้ก็เดินหน้า ถ้ารับไม่ได้ หวังว่ารัฐบาลจะมีทางออกให้กับผู้ส่งออก  เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลคงไม่ปล่อยให้ข้าว ซึ่งเป็นพืชเกษตรที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ พังครืนลงมาอย่างแน่นอน
 
ทั้งนี้ ทางสมาคมได้มีการพยากรณ์ว่า หลังจากโครงการรับจำนำข้าว จะทำให้การส่งออกข้าวไทยหดตัวลง 20% เพราะลูกค้าต่างประเทศจะหันไปหาผู้ส่งออกอื่นแทน และหากลูกค้ายอมรับข้าวหอมของคู่แข่งแล้ว จะเปลี่ยนพฤติกรรมกลับมากินข้าวไทยก็คงจะลำบาก

-อินเดียมาเวียดนามโดนด้วย
 
สอดคล้องกับนายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า หากอินเดียส่งออกข้าว จะกระทบทั้งตลาดเวียดนามและไทยทันที เพราะปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ราคาเฉลี่ย 610 -658 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หลังเข้าสู่โครงการรับจำนำราคาข้าว จะขยับขึ้นโดยเฉลี่ยเป็น 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจโลกมาก เท่ากับในอนาคตเราจะเสียตลาดให้กับเพื่อนบ้านและอินเดียโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ส่งออกแข่งขันไม่ได้ ต้นทุนสูง  สาเหตุมาจากนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ต้องการยกระดับชาวนาไทย
 
"ปริมาณสต๊อกข้าวผู้ส่งออกและโรงสี คาดว่าจะหมดสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ผู้ส่งออกหลายสิบโรง คงต้องหยุดหรือชะลอการส่งออก เพราะไม่สามารถที่จะซื้อแข่งกับรัฐบาลได้ เพราะราคาสูงกว่าตลาด ส่วนผู้ส่งออกรายอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูง ก็ไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งออกไปขายลูกค้าทั่วโลกแทน เพราะสู้ราคาในไทยไม่ไหว"

-ไทยไม่ใช่เบอร์ 1 อาเซียน
 
ขณะที่รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมอง กล่าวว่า ปัจจุบันในตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดข้าวใหญ่อีกแห่งนั้น ไทยได้สูญเสียตลาดให้กับเวียดนามไปแล้ว ดังจะได้เห็นจากสถิติการส่งออกข้าวไทยปี 2553  ที่ไทยส่งออกปริมาณทั้งสิ้น 9.05 ล้านตัน ในจำนวนนี้ส่งออกไปยังตลาดอาเซียน  13% กลุ่มเอเชียตะวันออก 9.42%  กลุ่มเอเชียตะวันตก 1.58% ออสเตรเลีย 1.28% โอเชียเนียและอื่น ๆ  0.91% สหรัฐอเมริกา 5.43% สหภาพยุโรป 5.06% ตะวันออกกลาง 13.83%  และแอฟริกา 49.49%  ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวในปี 2553 ปริมาณ 6.73 ล้านตันในจำนวนนี้ ส่งออกไปยังตลาดอาเซียนสัดส่วน  48 % กลุ่มเอเชียตะวันออก 1.21% กลุ่มเอเชียตะวันตก 0.00% ตะวันออกกลาง 4.66 % อื่นๆ 11.27% สหภาพยุโรป 2.85% สหรัฐอเมริกา 8.34% แอฟริกา 22.73% ออสเตรเลีย 0.84%
 
-จับตาพิรุธข้าวหอมเข้าจำนำ

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุทัยโปรดิวซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ชี้ว่า ให้สังคมจับตาดูให้ดี ถ้าหากมีข้าวหอมมะลิมาเข้าโครงการในช่วงแรกนี้ แสดงว่าเป็นข้าวมาจากที่อื่น เพราะข้าวหอมมะลิจะเก็บเกี่ยวประมาณหลังวันที่ 25 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป และในปีนี้เป็นห่วงหากฝนตกยังไม่หยุด จะทำให้ผลผลิตเสียหาย ข้าวไม่หอม และเวลาสีแปรจะหักเป็นท่อน ไม่ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น
 
"การตั้งราคาของรัฐเราเคยท้วงติงก่อนหน้านี้แล้ว ว่าสวนทางกับเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อคนทั่วโลกมีปัญหาเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ของแพงอยู่แล้ว ถ้ามีการปรับราคาขึ้นไปอีก จะทำให้ขายของได้น้อยลง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ปัจจุบันตลาดฮ่องกง ระดับการซื้อลดลงมาอยู่ 55% จากเดิม 85-90% ส่วนยุโรป สหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการเสียตลาดข้าวไทยให้กับเวียดนามและกัมพูชาอย่างสิ้นเชิง" 
 
นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลคือ ข้าวหอมมะลิที่จะไปป้อนลูกค้าเดิม เป็นห่วงว่าเกษตรกรจะเข้าโครงการรับจำนำกันทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางภาคอีสานจะเข้าโครงการเพียง 50% เท่านั้นก็หวังว่าส่วนที่เหลือจะขายโดยตรงกับผู้ส่งออก หรือโรงสี เพราะหากรัฐบาลซื้อแล้วจ้างโรงสีแปร เข้าโกดังกลางแล้วก็ไม่มั่นใจว่าจะได้ข้าวคุณภาพดีหรือไม่ เพราะบริษัททำสินค้าแบรนด์ของตัวเอง ไม่ได้ใส่ขายเป็นกระสอบส่งให้คู้ค้าเหมือนผู้ส่งออกรายอื่นๆ
 
นายเจริญ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อรัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการรับจำนำ หวังว่ารัฐบาลจะทำโปร่งใส  หากจะขายให้กับผู้ส่งออกหรือโรงสี ต้องทำการตรวจสอบ ดูชนิดข้าว คุณภาพได้ ไม่ใช่ให้ดูแค่ตัวอย่างไม่สามารถไปดูได้ที่คลังเก็บสินค้า ผู้ส่งออกเองก็ลำบากใจที่จะรับแล้วไปจำหน่ายต่อ 

-ติงรัฐตั้งบริษัทส่งออกเอง
 
แหล่งข่าวระดับสูงผู้ส่งออกข้าว  กล่าวว่า เป็นเรื่องตลกหากรัฐบาลจะมีแนวคิดในเรื่องจัดตั้งบริษัทส่งออกข้าวในสต๊อกที่รับจำนำ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐไม่ได้เชี่ยวชาญ และคล่องตัวเหมือนกับเอกชน แล้วจะขายแข่งกับเอกชนได้อย่างไร ซึ่งหากรัฐขายได้ก็คงจะขาดทุนมหาศาล และเงินเหล่านี้ก็เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น โดยในขณะนี้ภาคเอกชนคงต้องเฝ้าดูผลของนโยบายรับจำนำข้าว ว่าจะออกมาในรูปแบบใด
 
"หากรับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาด จะมีผลให้ชาวนามีแรงจูงใจที่จะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น โดยมีแนวโน้มที่จะลดพื้นที่ปลูกพืชอื่นที่ผลตอบแทนต่ำ มาขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวแทน  แทนที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของข้าวเปลือก ผลที่ตามมาก็คือ ผลผลิตของข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นมาก ต่างจากกรณีที่รัฐบาลกําหนดราคารับจํานําข้าวเปลือกที่ตํ่ากว่า หรือใกล้เคียงกับราคาตลาด ยิ่งข้าวเปลือกมีมากก็จะยิ่งกดดันราคาข้าวสารในตลาดโลก และหากรัฐบาลยังคงนโยบายในการจํานําข้าวเปลือกที่สูง ก็จะเป็นภาระของงบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นวงจรของปัญหาที่ไม่สิ้นสุด นโยบายนี้จึงยิ่งทําให้ชาวนายังคงปลูกข้าวในปริมาณมาก และมากขึ้นในปีถัดไป เป็นไปไม่ได้ที่จะลดการปลูกลง"

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.