นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการศึกษาข้อดีข้อเสียของการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) พบว่าส่วนใหญ่จะเกิดประโยชน์กับไทย แม้ว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียนจะเป็นผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน แต่หากมองข้ามความเป็นคู่แข่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการรวมกลุ่ม และไทยสามารถใช้จุดแข็งตรงนี้สร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรของไทยได้มากมาย
ทั้งนี้ ในส่วนสินค้าข้าว ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ผลิตข้าวคุณภาพดีจับตลาดบน โดยมีเวียดนามเป็นคู่แข่งที่มีจุดแข็งในข้าวคุณภาพปานกลางและต่ำ ซึ่งไทยจะต้องสร้างจุดแข็งสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดี และเร่งส่งเสริมข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอมมะลิไทยเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับลูกค้า
ไทยสามารถใช้โอกาสจากการเปิดเสรีเป็นผู้นำในด้านการค้าข้าวของโลกได้เพิ่มขึ้น โดยการรับซื้อข้าวคุณภาพปานกลางถึงต่ำจากประเทศในอาเซียน เช่น ลาว, กัมพูชา และพม่า เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือจำหน่ายตรงไปยังตลาดระดับล่างในประเทศต่างๆ เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศยังไม่มีความชำนาญในด้านตลาด ซึ่งปัจจุบันนี้เวียดนามก็ใช้แนวทางดังกล่าวในการซื้อข้าวจากลาวและกัมพูชาเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของปริมาณข้าวที่เวียดนามส่งออกไปตลาดโลก
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงสีของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก ยังมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนธุรกิจโรงสีข้าวเพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 ในลาวและกัมพูชาได้ด้วย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ได้เปิดโอกาสให้ไทยเข้าไปร่วมลงทุนอยู่แล้ว ขณะที่พม่า ล่าสุดมีแนวโน้มว่าสหภาพยุโรปอาจจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ก็ยิ่งเป็นโอกาสของไทยในการซื้อข้าวจากพม่าเพื่อจำหน่ายอีกต่อหนึ่ง
สำหรับถั่วเหลืองไทยต้องการใช้ปีละ 2 ล้านตัน ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน ผลิตภัณฑ์อาหาร และอาหารสัตว์ แต่ผลิตได้ปีละ 2 แสนตัน ที่เหลือต้องนำเข้า โดยปี 53 ไทยนำเข้าจากบราซิล 62% สหรัฐ 26% อาร์เจนตินา 6% และกัมพูชา 3% ซึ่งการเปิดเสรีในอาเซียนไทยสามารถนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว และพม่า ในอัตราภาษี 0% และไทยยังมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนและนำเข้ามาได้ โดยต้นทุนด้านโลจิสติกส์จะถูกกว่าการนำเข้าจากประเทศอื่น
กาแฟและกาแฟสำเร็จรูป ไทยผลิตพันธุ์อาราบิก้า ที่ตลาดมีความต้องการสูงได้ในสัดส่วนแค่ 3% ที่เหลือ 97% เป็นพันธุ์โรบัสต้า โดยปัจจุบันภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟในอาเซียนอยู่ที่ 5% กาแฟสำเร็จรูป 0% ซึ่งไทยสามารถนำเข้าเมล็ดกาแฟจากเวียดนามมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกาแฟสำเร็จรูปได้ ทั้งนี้ รัฐควรเน้นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศให้มีการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต
ส่วนชาไทยสามารถผลิตได้น้อย และภายใต้อาฟตาไทยลดภาษีเหลือ 0% แล้ว และยังได้ยกเลิกโควตานำเข้า ซึ่งไทยสามารถนำเข้าใบชาจากอาเซียน เช่น พม่า, ลาว, เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพื่อมาผลิตเพิ่มมูลค่าและส่งออกชาไปยังตลาดโลก โดยรัฐจะต้องเร่งส่งเสริมวิธีการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ทำเป็นผลิตภัณฑ์จากชาและเครื่องดื่ม ตลอดจนเพิ่มความรู้และเทคโนโลยีทางด้านบรรจุหีบห่อ
การเปิดเสรีอาฟตามีผลบวกให้สามารถหาซื้อสินค้าเกษตรจากอาเซียนได้หลากหลายขึ้น ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการเสาะหาวัตถุดิบลดลง ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกสินค้าเกษตรในประเทศ จะต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพสินค้า กระบวนการผลิต เพื่อให้แข่งขันได้ โดยภาครัฐพร้อมที่จะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และมีกองทุน FTA ที่จะเข้ามาดูแลกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี
ขณะที่นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า มีการร้องเรียนของผู้ผลิตรถยนต์เบนซ์ จากประเทศเยอรมนี และโตโยต้า จากประเทศญี่ปุ่น ว่าได้รับแจ้งจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั้งสอง มีการพบการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ปลอมเครื่องหมายการค้าเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถยนต์และผู้อื่นได้ เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพมาตรฐานด้านความปลอดภัยเหมือนกับอะไหล่แท้ ทั้งนี้ อะไหล่ปลอมที่มีการตรวจสอบพบ ในส่วนของอะไหล่รถเบนซ์ คือ ไส้กรองน้ำมัน และไส้กรองอากาศ ส่วนโตโยต้า คือไส้กรองน้ำมัน กับหัวเทียน
ที่มา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
|