นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารและกำกับดูแลโครงการจัดระบบการปลูกข้าว ว่า จากการสำรวจความต้องการของเกษตรกร เพื่อเข้าร่วมโครงการจัดระบบข้าวใหม่ โดยปลูกข้าวครั้งเดียวและปลูกพืชอื่นเสริมตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่นำร่องเขตภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร พบว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจรวม 41,662 ราย พื้นที่ 1.2 ล้านไร่
ทั้งนี้เกษตรกรจำนวนดังกล่าวมี 21,803 ราย ที่ต้องการเมล็ดพันธุ์พืชหลังนา พืชปุ๋ยสด เพื่อการเพาะปลูก จำนวน 485,000 ไร่ ประกอบด้วย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน และพืชปุ๋ยสด ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมการข้าวดูแลเรื่องพันธุ์ข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบให้การสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชหลังนาและพืชปุ๋ยสด คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ประมาณปลายเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้
“ที่ผ่านมาเกษตรกรจะทำนาตลอดทั้งปี ทำให้ดินไม่มีการหยุดพักและเกิดโรคระบาดมีแมลงศัตรูพืช ผลผลิตตกต่ำ การส่งเสริมให้ปลูกพืชหลังนา ไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยสดในช่วงพักการปลูกข้าว จะทำให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้” นายเฉลิมพร กล่าว
นายเชษฐ์ ตันสกุล ประธานกรรมการบริษัท เอเชียอุตสาหกรรมปุ๋ยและโรงสีข้าว จำกัด และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการเกษตร วุฒิสภา กล่าวว่า การปรับระบบข้าวของกระทรวงเกษตรฯ เป็นเรื่องที่ดีและควรดำเนินการ เพราะจะทำให้สภาพดินดีขึ้น และเป็นการตัดวงจรของโรคแมลงต่างๆ และใช้ปุ๋ยเคมีลดลง
นอกจากนี้จากนโยบายการรับจำนำข้าว และการประกันราคาข้าวที่ผ่านมา ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาราคาข้าวให้กับเกษตรกรได้อย่างจริงจัง เนื่องจากกระบวนการค้าข้าวในปัจจุบันต้องผ่านหลายขั้นตอน
การแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องจัดตั้งองค์กรข้าวแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่จะบริหารจัดการเรื่องปัญหาข้าว ควบคุมตลาดข้าวให้กับเกษตรกรได้อย่างเป็นเอกเทศ และมีอิสระในการปฏิบัติงาน โดยองค์กรข้าวแห่งชาติ จะรับผิดชอบโดยตรงในการรับซื้อข้าวทั้งหมดจากโรงสีในราคาประกันและด้วยเงินสด ทำให้โรงสีมีกำไร และสามารถซื้อข้าวสารจากเกษตรกรด้วยเงินสดในราคาที่แน่นอน โดยไม่ต้องผ่านหยงและพ่อค้าคนกลาง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|