นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะปรับเพิ่มราคาประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพราะเห็นว่าราคาที่ใช้ในการกำหนดสำหรับการประกันราคาสินค้าดังกล่าวนั้น ได้กำหนดมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการทบทวนราคาประกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธานพิจารณาเรื่องดังกล่าว
"โดยหลักการของโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว คือ คำนวณจากต้นทุนของเกษตรกร และกำไรที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม แต่การกำหนดต้นทุนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการกำหนดเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องทบทวน"
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างเกษตรกรและกรมการข้าว เบื้องต้นสรุปให้คงราคาประกันไว้ที่เท่าเดิม แต่ให้เพิ่มปริมาณประกันจาก 25 ตันเป็น 30 ตันต่อครัวเรือน ซึ่งข้อสรุปนี้จะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อตัดสินในวันที่ 7 มี.ค.นี้
"ชาวบ้านเขาขอให้เพิ่มปริมาณการรับประกันจาก 25 ตันต่อราย เป็น 40 ตันต่อราย แต่ที่ประชุมสรุปว่า ควรเพิ่มให้เป็น 30 ตันต่อราย ซึ่งถือว่า เป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับผลกำไรที่ได้ ส่วนเหตุที่ไม่ให้เพิ่มราคาประกันนั้น เพราะได้มีการทบทวนต้นทุนและเปอร์เซ็นต์ผลกำไรที่จะได้ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว"
สำหรับยอดการชดเชยการประกันรายได้สินค้าเกษตรนั้น ปีการผลิต 2553/2554 ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการชดเชยราคาสินค้าข้าวเพียงชนิดเดียว เพราะราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกัน โดยชดเชยชาวนาจำนวน 3.03 ล้านราย เป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2552/2553 ชดเชย 2.8 หมื่นล้านบาท
ราคาประกันรายได้ล่าสุด ข้าวเปลือกนาปี (ความชื้น 15%) ข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท,ข้าวหอมจังหวัด 14,300 บาท ข้าวปทุมธานี 11,000 บาท ข้าวเจ้านาปี 10,000 บาท และข้าวเหนียว 9,500 บาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|