นายบุญช่วย เจียดำรงค์ชัย รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.เตรียมแผนงานรองรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ไว้แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนด้านวงเงิน วิธีดำเนินการในสัปดาห์หน้าหลังจากหารือกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นธ.ก.ส.เตรียมสภาพคล่องไว้ 100,000 ล้านบาท อีกทั้งจะเจรจากับสถาบันการเงินเปิดบัญชีเงินกู้ไว้สำรองหากต้องใช้เงินเพิ่ม และจะเสนอข้อดีข้อเสียในการรับจำนำข้าวให้ตัดสินใจด้วย
ทั้งนี้ธ.ก.ส.ต้องประเมินภาพรวมของวงเงินทั้งหมดที่จะใช้ ควบคู่ไปกับภาระหนี้สินที่มีอยู่ปัจจุบัน จากโครงการต่าง ๆ ในอดีต อาทิ โครงการจำนำข้าวเดิม ที่มีหนี้ค้างอยู่กว่า 150,000 ล้านบาท และสภาพคล่องในปัจจุบันด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับผลดำเนินงานปกติของธนาคาร ซึ่งคงต้องขึ้นกับแนวทางดำเนินโครงการของรัฐบาล และแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการ
โดยโครงการที่คาดว่าจะใช้วงเงินค่อนข้างมาก คือโครงการรับจำนำข้าว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงิน 100,000 ล้านบาทขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงการคลังให้ชัดเจนว่าจะใช้เงินจากส่วนไหนมาดำเนินการ
ส่วนโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย ที่มีหนี้ไม่เกิน 500,000 บาทนั้น หากจะทำให้มีประสิทธิภาพ ควรเน้นการช่วยเหลือไปที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากนัก ขณะเดียวกันจะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้ดีอยู่แล้ว และในแง่วงเงินจะปรับลดลงไปด้วย หากจำกัดความช่วยเหลือไว้ที่หนี้เสียเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โครงการที่คาดว่าสามารถทำได้ทันที และไม่ต้องใช้เงินมากนัก คือบัตรเครดิตชาวนา ที่ธนาคารมีสถาบันสหกรณ์ และร้านค้าทางการเกษตรในเครือข่ายอยู่แล้ว สามารถขอความร่วมมือกับเครือข่ายดังกล่าวในการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในการนำบัตรเครดิตฯ ไปใช้ซื้อสินค้าทางการเกษตรได้ทันที เบื้องต้นกำหนดให้เกษตรกรรูดบัตรซื้อปัจจัยการผลิตได้ไม่เกิน 60% ของผลผลิตที่เตรียมไว้ขาย หากเกินกว่านี้ต้องพิจารณาตามความจำเป็น
นายบุญช่วย กล่าวว่า ล่าสุด ธนาคารได้ขยายเวลารับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีออกไปถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งจนถึงวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 26,800 ราย พื้นที่ปลูกข้าว 542,000 ไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 70.2 ล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 8.3 ล้านไร่ ซึ่งหลังจากที่เกิดอุทกภัยจากพายุนกเตนที่ผ่านมา มีผลทางจิตวิทยาให้เกษตรกรตื่นตัวสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น จึงได้ขยายเวลาร่วมโครงการดังกล่าวออกไปอีก
“ค่าเบี้ยประกันไร่ละ 129.47 บาทนั้น รัฐบาลอุดหนุน 69.47 บาท กรณีเป็นลูกค้าธ.ก.ส. จะได้รับการจ่ายเงินสมทบอีก 10 บาท ทำให้เกษตรกรจ่ายฯ เพียง 50 บาท และลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ทำประกันฯ ยังได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยเงินกู้อีก 1% นาน 6 เดือนด้วย โดยจะคุ้มครองความเสียหายจากการปลูกข้าวจากภัยธรรมชาติ ทั้ง อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ แต่ไม่รวมถึงโรคระบาดและแมลงศัตรูพืช ชดเชย 60 วันแรกนับจากวันเริ่มปลูก ได้รับสินไหมทดแทนไร่ละ 606 บาท ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 61 เป็นต้นไปได้รับค่าสินไหมทดแทนไร่ละ 1,400 บาท”
สำหรับความช่วยเหลือลูกค้าธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากพายุนกเตนขณะนี้ พบว่ามีลูกค้าได้รับความเดือดร้อนแล้ว 40,030 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 365,301 ไร่ ซึ่งธนาคารจะผัดผ่อนชำระหนี้ให้ 1 ปี งดคิดดอกเบี้ยเพิ่ม 3% พร้อมปรับโครงสร้างหนี้ให้ และให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูผลการผลิต
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อโครงการลงทุนของรัฐบาลใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องระดมเงินฝากเพิ่มเติม เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสูงถึง 91% และมั่นใจว่านโยบายของรัฐจะไม่สร้างปัญหาเอ็นพีแอลให้กับธนาคารเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ส่วนสินเชื่อปีนี้ได้ปรับเป้าโต 10% หรือมีมูลค่าสินเชื่อ 130,000 ล้านบาทจากเดิมที่ตั้งไว้ 6-7% เพราะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.)ยอดสินเชื่อเติบโตถึง 6%.
ที่มา เดลินิวส์
|