ภายหลังจากที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิตปี2554/55 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 มีข้อสรุปจะเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554-กุมภาพันธ์ 2555 (ยกเว้นภาคใต้)
แหล่งข่าววงการค้าข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา หลังผลประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว มีข้อสรุปว่าจะเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554- กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นเวลาการเปิดรับจำนำเร็วกว่าที่คาดหมายว่าจะเริ่มเปิดรับจำนำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ส่งผลให้ราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกรับซื้อจากโรงสีปรับตัวสูงขึ้นทันทีกระสอบละ 50 บาท (ขนาดบรรจุ 100 กก.) โดยผู้ส่งออกรายใหญ่ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด เปิดราคารับซื้อที่กระสอบละ 1,650 บาท จากเดิมซื้อขายกันที่กระสอบละ 1,600 บาท (ข้าวขาว5%) โดยเฉพาะข้าวนึ่งขึ้นราคาถึงกระสอบละ 100 บาทจากกระสอบละ 1,750 บาทเป็น 1,850 บาท เช่นเดียวกับโรงสีได้มีการปรับราคาซื้อข้าวจากชาวนาสูงขึ้น
"การเคลื่อนไหวซื้อข้าวราคาสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงของกลุ่มโรงสีและผู้ส่งออกที่มีทุนหนา สายป่านยาว อาทิ ซี.พี.อินเตอร์เทรด, เอเซียโกลเด้นไรซ์, นครหลวงค้าข้าว, ไทยฟ้า (2511) ส่วนรายกลาง รายเล็ก ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเท่าที่ควร โดยยังซื้อมาขายไปตามออร์เดอร์ที่มีอยู่เท่านั้น รายใหญ่มีความกล้าเสี่ยงกว่าเพราะมีเงินทุนที่เพียงพอ โดยการเคลื่อนไหวของรายใหญ่นอกจากมีความได้เปรียบเพราะสามารถซื้อข้าวราคาถูกเก็บสต๊อกไว้ มีความเป็นไปได้สูงในการทำกำไรเพราะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าอีก 1 เดือนข้างหน้า หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำแล้ว ราคาข้าวทั้งในประเทศและส่งออกจะต้องขยับขึ้นอย่างแน่นอน ถึงเวลานั้นข้าวขาว5% ราคาจะตกกระสอบละ 2,200-2,300 บาท ผู้ที่ซื้อไว้ที่ราคาปัจจุบันรวมค่าดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดังฝากเก็บยังทำกำไรได้ โดยเฉพาะการร่นเวลาจำนำเร็วขึ้นไม่ต้องใช้เวลาเก็บสต๊อกข้าวนานก็สามารถทำกำไรได้แล้ว"
ขณะที่นายโนรี ศรีสมุทรนาค นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนารู้สึกพอใจที่รัฐบาลประกาศยืนยันไม่จำกัดจำนวนการรับจำนำข้าว ซึ่งจะเป็นผลดีให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ อย่างไรก็ดีนายทุนที่ให้ชาวนาเช่าพอเห็นชาวนามีรายได้ก็เริ่มที่จะคิดค่าเช่านาจากไร่ละ 1,500-1,600 บาท มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาเป็นไร่ละ 2,000 บาท ปัจจุบันชาวนาที่ทำนาเช่ามีประมาณ 70-80% ทั้งหมดของประเทศ บางพื้นที่ยังบีบบังคับให้ทำนา 2-3 รอบหากไม่ทำก็ขู่จะให้คนอื่นมาทำแทน
ด้านนายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้ที่ประกาศรับจำนำไม่จำกัดจำนวน รัฐบาลต้องมีการคัดเลือกโรงสี โดยให้สมาคมโรงสีข้าวไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ออกใบรับรองคุณภาพ จะเป็นการตัดโอกาสโรงสีไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่โครงการจำนำ มิฉะนั้นจะไม่สามารถบริหารจัดการโรงสีที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมากได้ เพราะมีช่องว่างที่โรงสีสามารถเอาเปรียบเกษตรกรได้ อาทิ การโกงความชื้น โกงเปอร์เซ็นต์ข้าวจาก 100% เหลือ 5% หรือ 10% บ้าง ขณะเดียวกันควรมีการตั้งตัวแทนชาวนาให้มาตรวจสอบคุณภาพข้าวร่วมกับโรงสี เจ้าหน้าที่อคส.และอ.ต.ก. ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่นเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพราะเป็นตัวแทนชาวนาอยู่แล้ว เพราะหากร่วมโกงสมัยหน้าก็จะไม่ได้รับเลือกตั้ง
นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้จำหน่ายข้าวตราฉัตร กล่าวว่าแนวโน้มในช่วงโครงการรับจำนำข้าว ข้าวถุงจะมีการปรับราคาใหม่ ประมาณ 15-20% เพราะวัตถุดิบราคาสูง ขณะเดียวกันทางกระทรวงพาณิชย์จะให้ทางสมาคมผู้ประกอบการค้าข้าวถุงไทย และอคส.นำข้าวในสต๊อกรัฐบาลมาผลิตข้าวถุงธงฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ปริมาณรวม คาดว่า 400,000-500,000 ตัน จะไม่กระทบกับผู้ประกอบการข้าวถุงโดยรวม สัดส่วนแค่ 1% ของปริมาณข้าวทั้งหมด
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวราคาสูงของรัฐบาล ทำให้ผู้นำเข้าข้าวต่างประเทศมีความกังวล โดย 3 สมาคมผู้นำเข้าข้าวไทยในฮ่องกงได้ทำหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนการรับจำนำ เพราะเป็นห่วงว่าราคาข้าวไทยสูงจะสูญเสียตลาด เช่นเดียวกับนายวิชัย ศรีประเสริฐ ประธานบริษัท ไรซ์แลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ กล่าวว่าผู้บริโภคข้าวในแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดนำเข้าข้าวนึ่ง มีความวิตกต่อราคาข้าวไทยที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|