นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานมอบนโยบายโรงสีข้าว/ตลาดกลางที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้โรงสีและตลาดกลางมีความพร้อมจะดำเนินโครงการแล้ว 100% โดยตนได้ทำความเข้าใจกับโรงสีในประเด็นที่เป็นข้อกังวลทั้งหมดแล้ว อาทิ เรื่องการทำสัญญา การสีแปรสภาพ และการระบายข้าว พร้อมทั้งขอให้โรงสีมั่นใจในการซื้อข้าว เพื่อให้เป็นไปตามระบบตลาดปกติ โดยไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลจะเข้าไปดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อการค้าปกติ
“อยากให้ทุกฝ่ายมั่นใจ เพราะหน้าที่รับจำนำข้าวเป็นของโรงสี ให้รับจำนำทุกเม็ดอย่างที่วางนโยบายไว้พื้นที่ต่อไร่ หรือผลผลิตต่อไร่ที่วางกรองไว้ เป็นเพียงการสำรวจข้อมูลเท่านั้น หากแจ้งขึ้นทะเบียนไป 40 แต่ผลผลิต 45 ตัน ธกส. ต้องจ่ายส่วนเกินให้เกษตรกร หากไม่จ่ายผมจะทำความเข้าใจให้เอง ส่วนที่มองว่าปริมาณอาจจะมากเกินไปหรือไม่ เป็นหน้าที่ของเราในการตรวจสอบว่ามีข้าวมากเกินไปจนผิดปกติหรือไม่ ส่วนการระบาย เรามีหน้าที่ทำจีทูจี ออกไป กับหลายๆ ประเทศที่ติดต่อมา แต่เชื่อได้เลยว่าจะไม่มีการทำอะไรที่มีลับลมคมในเหมือนที่ผ่านมา หรือหากผู้ส่งออกต้องการซื้อ ผมจะเปิดห้องให้ซื้อขายกันเลย แต่ตอนนี้ผมยังไม่ได้ยืนยันว่าจะมีการระบายข้าว”นายกิตติรัตน์กล่าว
พร้อมกันนี้ เห็นด้วยกับข้อมูลที่โรงสีชี้แจง เรื่องราคาข้าวสารในตลาด ภายหลังจากรัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือตันละ 15,000 บาท จะทำให้ราคาข้าวสารในตลาดปรับสูงขึ้นจาก 24,000 บาท เป็น 30,000 บาท แต่หากเทียบกับปริมาณความต้องการบริโภคข้าวต่อคนวัน พบว่า ประชาชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 9 บาท หรือมื้อละ 3 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าค่าน้ำเปล่าบรรจุขวด
ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวย้ำว่า ไม่กังวลว่าไทยจะส่งออกข้าวสารได้ปริมาณลดลงจาก 10 ล้านตันเหลือ 6-7 ล้านตัน เพราะเชื่อว่าราคาส่งออกข้าวจะมีมูลค่าต่อหน่วยมากขึ้น ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออก
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสัญญาการว่าจ้างโรงสีรับจำนำข้าวนั้น ขณะนี้ร่างสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการส่งไปยังคณะอนุกรรมการจำนำระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ไปเซ็นสัญญากับโรงสีในพื้นที่
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า ปัญหาที่กังวลในการร่วมโครงการจำนำ ประกอบด้วย
1) เงื่อนไขการสีแปรสภาพข้าวไม่ชัดเจน และอัตราการสีแปรสภาพข้าวก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จะเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 7 วันหลังจากเริ่มโครงการ
2) เงื่อนไขการส่งมอบข้าวที่สีแปรสภาพแล้ว และปลายข้าวเอวันเลิศซึ่งยังไม่มีความชัดเจน
3) การตรวจสอบคุณสมบัติเซอร์เวเยอร์ที่จะเข้าร่วมโครงการ เพื่อป้องกันเซอร์เวเยอร์ที่ติดแบล็คลิสต์ ไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำ
4) ความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายการจัดทำข้าวถุงธงฟ้าของรัฐบาล เริ่มส่งผลต่อธุรกิจข้าวถุงในประเทศ
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการมอบนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และในวันที่ 7 ต.ค.นี้ที่ห้องปฏิบัติการณ์ กระทรวงพาณิชย์
ที่มา มติชนออนไลน์
|