www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ฟุ้งประกันฯอุ้มเกษตรกรได้ทั่วถึง


กรณีรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ได้เปลี่ยนโครงการรับจำนำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายพืชผลได้ราคาสูง มาใช้ "โครงการประกันรายได้" นั้นขณะนี้โครงการประกันรายได้เริ่มเข้าสู่ปีที่สองแล้ว

+++ขาดทุนจำนำแสนล้าน
 
นายลักษณ์  วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 รัฐบาลมียอดขาดทุนสะสมที่ต้องชำระคืนธ.ก.ส.รวมทั้งสิ้นประมาณ 140,000 ล้านบาท จากการดำเนินโครงการ 10 โครงการ โดยมีพืชเกษตรสำคัญๆอาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด กุ้ง เป็นต้น ในจำนวนนี้มีสต๊อกสินค้าเกษตรรอการขาย ที่คาดว่าจะขายได้มูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะเป็นยอดขาดทุนจริงอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยยอดขาดทุนสะสมนี้น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 หรือกว่า 10 ปีมาแล้ว
 
"ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) ได้มอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการเพื่อปิดบัญชี โดยได้เชิญผู้แทนองค์การคลังสินค้า (อคส.) ผู้แทนองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)และธ.ก.ส.ร่วมหารือ คณะกรรมการได้ทำหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอครม.เพื่อวางแนวทางจัดสรรงบประมาณคืนธ.ก.ส. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการผ่อนชำระ หากรัฐบาลไม่สามารถชำระคืนได้ให้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าดอกเบี้ยให้กับทางธ.ก.ส."นายลักษณ์ กล่าวและว่า
 
สำหรับยอดขาดทุนจากการดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงที่มีการรับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้เกษตรกรไม่มาไถ่ถอน จึงทำให้สินค้าเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่บริหารสต๊อก ขณะที่การขายสินค้าโดยหน่วยงานของรัฐไม่มีความคล่องตัว จึงเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายเก็บสต๊อก สินค้าเสื่อมคุณภาพขายได้ราคาต่ำ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาเรื่องสต๊อกลม สวมสิทธิ์ เวียนเทียน จนเกิดการขาดทุนสะสมขึ้นในที่สุด

+++ปี 52 ขาดทุน 5 หมื่นล.
 
ทั้งนี้ฤดูการผลิตปี 2551/52 ก่อนที่รัฐบาลจะเปลี่ยนจากโครงการรับจำนำมาเป็นโครงการประกันรายได้ ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินกู้โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร 6 โครงการ วงเงิน 167,742 ล้านบาท  ประกอบด้วยข้าวเปลือกนาปี 2551/52 วงเงิน 67,056 ล้านบาท ขณะนี้ยังมีสินค้าเหลืออยู่ในสต๊อก คาดว่าหากระบายสต๊อกหมดจะขาดทุนประมาณ 19,700 ล้านบาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2551/52 จ่ายเงินกู้วงเงิน 8,377 ล้านบาท ระบายสินค้าหมดแล้ว ขาดทุน 3,800 ล้านบาท มันสำปะหลังปี 2551/52 จ่ายเงินกู้ 22,997 ล้านบาท ระบายสต๊อกสินค้าหมดแล้ว ขาดทุน 1,900 ล้านบาท ข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ปล่อยเงินกู้ 62,626 ล้านบาท มีสินค้าอยู่ในสต๊อก คาดว่าหากระบายสต๊อกแล้วเสร็จจะขาดทุน 28,000 ล้านบาท กุ้งขาวแวนนาไม ปี 2552 จ่ายเงินกู้ 2,116 ล้านบาท ขาดทุน 970 ล้านบาท รับฝากข้าวเปลือกยุ้งฉางปี 2552/53 จ่ายเงินกู้ 4,566 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการระบายสินค้า จากการดำเนินโครงการและมีการระบายสินค้าออกไปแล้วรวมถึงอยู่ระหว่างการระบายมียอดขาดทุนรวม 50,950 ล้านบาท

+++ประกันรายได้จ่าย 5.5 หมื่นล.
 
นายลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการประกันรายได้ ซึ่งรัฐบาลได้นำมาใช้สำหรับยกระดับราคาสินค้าเกษตรปีการผลิต 2552/53 เป็นปีแรก โดยเริ่มที่พืช 3 ชนิดคือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 5 ล้านครัวเรือน รัฐบาลได้มอบหมายให้ธ.ก.ส.เป็นผู้จ่ายเม็ดเงินให้กับเกษตรกร โดยเป็นเงินงบประมาณที่รัฐจัดสรร ผลปรากฏว่าธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินให้กับเกษตรกร 5 ล้านครัวเรือนรวมประมาณ 55,000 ล้านบาท
 
"โครงการประกันรายได้เป็นการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรโดยตรง รัฐบาลไม่ต้องมีภาระเก็บสต๊อกสินค้า บริหารสต๊อก รวมถึงระบายสต๊อกสินค้า และการเริ่มต้นปีแรกแม้เบื้องต้นจะให้ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน แต่รัฐบาลได้จัดสรรงบจากโครงการไทยเข้มแข็งคืนให้กับธ.ก.ส."
 
สำหรับฤดูการผลิตปี 2553/54 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้สำหรับโครงการประกันรายได้รวมทั้งสิ้น 54,000 ล้านบาท มีเกษตรกรที่ปลูกพืช 3 ชนิดคือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 4.7 ล้านครัวเรือน น้อยกว่าปี 2552/53 สาเหตุที่น้อยกว่าอาจเป็นเพราะว่าปีนี้ราคาข้าวโพดกับมันสำปะหลังดีมาก สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่รัฐบาลตั้งไว้ จึงทำให้เกษตรกรไม่อยากเสียเวลามาขึ้นทะเบียน เพราะขายให้กับพ่อค้าได้ราคาสูง

ทั้งนี้ธ.ก.ส.ได้จ่ายเม็ดเงินสำหรับปี 2553/54 แล้วเบื้องต้นประมาณ 33,000 ล้านบาท คาดว่าจะมียอดจ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายเฉพาะข้าวเพียงพืชเดียว เนื่องจากข้าวโพดกับมันสำปะหลังราคาสูงกว่าราคาประกันรายได้  

+++เทียบกันไม่ได้
 
จัดการธ.ก.ส.กล่าวอีกว่า โครงการรับจำนำกับโครงการประกันรายได้ ไม่สามารถนำมาเทียบกันได้ เพราะประกันรายได้คือการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในอาชีพการเกษตร ถ้าขายสินค้าไม่ได้ตามราคาประกัน ส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดรัฐบาลจ่ายให้ และไม่ถือว่าบิดเบือนกลไกตลาด จะเห็นได้ว่าเวลานี้ข้าวอายุสั้นคุณภาพไม่ดีได้หายออกไปจากตลาดแล้ว เพราะตลาดไม่ต้องการเข้าโครงการประกันรายได้ และผู้ประกอบการโรงสีที่ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร เริ่มกลับมาทำหน้าที่ของตนเอง คัดเลือกคุณภาพข้าว วิ่งหาสภาพคล่อง ใครปลูกข้าวคุณภาพดีโรงสีไม่มีการต่อรองราคา ยอดการส่งออกปีนี้สูงแสดงว่าขีดการแข่งขันดีขึ้น สต๊อกรัฐบาลน้อยลง ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่กลไกตลาด

 อย่างไรก็ดีมีความเป็นห่วงว่าหากพืชชนิดอื่น เรียกร้องให้รัฐบาลประกันรายได้ อาจจะทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะนำไปสู่ภาระของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น ปีนี้โชคดีที่ราคาพืชผลเกษตรกรดีจึงไม่มีการเรียกร้อง

+++ประกันรายได้ทั่วถึง
 
ขณะที่ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงโครงการประกันรายได้ที่ใช้เงินงบประมาณมากกว่าโครงการรับจำนำ ว่าหากดูที่สินค้าข้าวชนิดเดียว โครงการรับจำนำช่วยเกษตรกรได้เพียง 600,000 ครัวเรือนหรือคิดเป็น 30% ของเกษตรกรทั้งประเทศ และเป็นเกษตรกรที่มีฐานะเป็นส่วนใหญ่ ต่างจากโครงการประกันรายได้ที่ช่วยได้มากถึง 4,000,000 ครัวเรือน จะเห็นความแตกต่างคือจำนวนเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือมากกว่ากัน ประกันรายได้เกษตรกรมีกำไร เพราะราคาประกันได้คำนวณจากต้นทุนการผลิต บวกค่าขนส่งบวกกำไร 40% ไว้แล้ว

+++แนะปรับจุดอ่อน
 
ด้านนายชาญชัย  รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า  โครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลต้องขาดทุนสะสมกว่าแสนล้านบาท เทียบกับโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรของรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะเพียงปีเดียว(2553) ที่ต้องจ่ายชดเชยไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนตัวยังมองโครงการประกันรายได้เป็นแนวทางที่ดีกว่าเพราะประโยชน์ตกกับเกษตรกรโดยตรงมากกว่าโครงการรับจำนำที่มีช่องทางในการทุจริตอยู่มาก
 
อย่างไรก็ดีโครงการประกันรายได้ หากยังคงดำเนินการไปอย่างในปัจจุบันประโยชน์จะไม่ตกกับเกษตรกร รวมถึงภาคการส่งออกของไทยมากอย่างที่หวัง อาทิ ราคาประกันข้าวเปลือกเจ้า 5% ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ 10,000 บาทต่อตัน ซึ่งได้มีการกำหนดราคาอ้างอิงประจำสัปดาห์เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกร เช่น กำหนดไว้ที่ 7,500 บาท หรือ 8,000 บาท หากราคาตลาดไม่ถึง 10,000 บาท รัฐบาลต้องจ่ายชดเชย 2,500-2,000 บาท เป็นต้น ซึ่งทำให้เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลมาก
 
ในเรื่องนี้แนวทางที่น่าจะประหยัดงบประมาณมากกว่า และเป็นประโยชน์กับเกษตรกรมากกว่า รัฐบาลควรดำเนินการแบบครบวงจร เช่น หากราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกันเกิน 10% รัฐบาลจะต้องเข้าไปแทรกแซงโดยตั้งโต๊ะรับซื้ออย่างต่ำ 9,000 บาท และชดเชยส่วนต่างที่เหลือ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย และรัฐบาลจ่ายชดเชยไม่มาก อีกด้านหนึ่งจะทำให้พ่อค้าไม่ไปกดราคารับซื้อข้าวในราคาต่ำกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ข้าว
 
ขณะเดียวกันควรมีการกำหนดเกณฑ์ราคาข้าวส่งออกว่า หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดห้ามพ่อค้าไทยส่งออก หากทำเช่นนี้ได้จะทำให้ราคาข้าวทั่วประเทศปรับตัวสูงขึ้น และข้าวส่งออกไทยในตลาดโลกจะสูงขึ้นทำให้ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกสามารถชี้นำราคาตลาดได้ และจะทำให้ผู้นำเข้าต้องรีบซื้อเพราะไม่มีของถูกอีกแล้ว

+++ฝ่ายค้านยันจำนำดีกว่า
 
ขณะที่นายไพโรจน์ อิสรเสรีพงษ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่าโครงการรับจำนำดีกว่าเพราะโครงการประกันรายได้ทำให้ชาวนาผู้เช่านาเสียโอกาส เนื่องจากมีคนกลุ่มหนึ่งไปเสนอค่าเช่านากับเจ้าของนาในราคาที่สูงกว่าชาวนารายเดิมเช่าอยู่ และนำเงินชดเชยประกันรายได้ไปแบ่งกับเจ้าของนา ที่สำคัญไม่ได้ทำนาจริงด้วย จะเห็นได้จากเวลานี้มีพื้นที่นาว่างเปล่าจำนวนมาก

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.