นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปพิจารณาทบทวนต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น เพื่อกำหนดราคารับประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวใหม่ เพราะราคาประกันข้าวในปัจจุบันใช้มา 2 ปีแล้ว ขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นทั้งจากปัจจัยการผลิตและราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ในส่วนของกำไรที่เกษตรกรได้รับยังกำหนดไว้เท่าเดิม คือ ข้าวนาปีกำหนดกำไรไว้ที่ 40% และข้าวนาปรังกำหนดกำไรที่ 20%
นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (7 มี.ค.) กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอต้นทุนการผลิตข้าวให้ กขช.พิจารณา พร้อมกับปรับราคาประกันรายได้ ผู้ปลูกข้าว ปี 2553/2554 รอบที่ 2 ใหม่ โดยบวกกำไรให้เกษตรระหว่าง 30-50% จากปัจจุบันให้ 40% แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้เกษตรกรได้กำไร 29%
ข้อเสนอการปรับราคาประกันข้าวปีการผลิต 2553/2554 (รอบ 2) หรือข้าวนาปรัง ประกอบด้วย ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ปรับราคาประกันเป็น 10,000-11,600 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเจ้าปรับราคาเป็น 10,500-12,100 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเหนียว 9,700-11,200 บาทต่อตัน พร้อมทั้งเสนอให้ปรับปริมาณรับประกันข้าวชนิดต่างๆ โดยคำนวณจากพื้นที่ 40-60 ไร่ ได้แก่ ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เพิ่มปริมาณเป็น 33-46 ตันต่อครัวเรือน จาก 25 ตันต่อครัวเรือน, ข้าวเปลือกเจ้า 28-42 ตันต่อครัวเรือน จาก 25 ตันต่อครัวเรือน, ข้าวเปลือกเหนียว 22-33 ตันบาทต่อครัวเรือนจาก 16 ตันต่อครัวเรือน
ทั้งนี้ราคาประกันรายได้ล่าสุด ข้าวเปลือกนาปี (ความชื้น 15%) ข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท, ข้าวหอมจังหวัด 14,300 บาท, ข้าวปทุมธานี 11,000 บาท, ข้าวเจ้านาปี 10,000 บาทและข้าวเหนียว 9,500 บาท
ก่อนหน้านี้ เกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนให้ปรับราคาประกันข้าวเปลือกเจ้า ณ ความชื้น 15% จากเดิม 10,000 บาทต่อตัน เป็น 14,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด จากเดิม 14,300 บาทต่อตัน เป็น 16,000 บาทต่อตัน เนื่องจากการกำหนดราคาประกันรายได้ดังกล่าวยังต่ำ ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
ขณะที่การสำรวจต้นทุนการผลิตข้าวเฉลี่ยทั้งประเทศ ในช่วงกลางฤดูเพาะปลูกข้าวปี 2553/2554 รอบ 2 ในเดือนก.พ. 2554 พบว่าข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ต้นทุนการผลิต 7,505 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,850 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว 7,235 บาทต่อตัน
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตข้าวที่สำรวจ สศก.ในครั้งนี้ ยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรจังหวัดนครศรีอยุธยาที่แจ้งว่ามีต้นทุนการผลิตที่ 9,420-10,520 บาทต่อตัน เนื่องจากสถานการณ์การผลิตในปีนี้มีการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าว โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่รุนแรงเท่ากับปีก่อน ทำให้ค่าแรง ค่าวัสดุ ได้แก่ ยาปราบศัตรูพืช ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นลดลง และค่าเช่านาโดยเฉลี่ยฤดูละอยู่ที่ 900 บาทต่อตัน
นอกจากนี้ สศก.ระบุว่า จากการสำรวจราคาต้นทุนของเกษตรกรเดือนก.พ.2554 เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนเดิมที่ใช้คำนวณกำหนดราคาประกันรายได้เกษตรกรโครงการปี 2553/2554 ซึ่งมีการสำรวจในเดือนพ.ย.2553 ไม่มากนักโดยข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ลดลง 52 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าเพิ่มขึ้น 300 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียวเพิ่มขึ้น 646 บาทต่อตัน
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตข้าวปี 2552/2553 (รอบ 2) และต้นทุนการผลิตข้าวปี 2553/2554 (รอบ 2) พบว่าต้นทุนการผลิตข้าวเปลือกปทุมธานี 1 และข้าวเปลือกเจ้า เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เพิ่มขึ้น 1,162 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเจ้าเพิ่มขึ้น 1,283 บาทต่อตัน ขณะที่ข้าวเปลือกเหนียวลดลง 486 บาทต่อตัน
นายธราดล ระบุว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังเสนอให้ กขช.พิจารณากรอบวงเงินในการดำเนินการโครงการประกันรายได้ปีการผลิต 2553/2554 (รอบ 2) โดยเสนอกรอบวงเงินที่ 1.97 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินชดเชยรายได้เกษตรกร 1.9 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของ ธ.ก.ส. 262 ล้านบาท ค่าชดเชยต้นทุนเงิน 477.37 ล้านบาท และค่าประชาสัมพันธ์โครงการ 30 ล้านบาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|