www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

กขช.ทุ่ม 3 หมื่นล้านอุ้มนาปรัง เพิ่มประกันข้าว 1.1 หมื่นต่อตัน


นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มราคาประกันข้าวในโครงการประกันรายได้ข้าวนาปรังปี 2554 เนื่องจากต้นทุนของเกษตรกรปรับตัวสูงขึ้น โดยปรับเพิ่มราคาประกันรายได้ข้าวเจ้านาปรังเป็น 1.1 หมื่นบาทต่อตัน จาก 1 หมื่นบาทต่อตัน ปรับเพิ่มราคาข้าวปทุมธานี เป็น 1.15 หมื่นบาทต่อตัน จาก 1.1 หมื่นบาทต่อตัน และปรับเพิ่มราคาข้าวเหนียว เป็น 1 หมื่นบาทต่อตัน จากราคา 9.5 พันบาทต่อตัน และให้ปรับเพิ่มปริมาณต่อครัวเรือน ในการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ จาก 25 ตันต่อครัวเรือน เป็น 30 ตันต่อครัวเรือน โดยให้มีผลในเดือนมี.ค. นี้ทันที

"ทั้ง 3 ชนิดที่ปรับราคาในโครงการประกันรายได้เพิ่ม คาดว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มอีกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งงบไว้ 1.9 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้น เงินที่ใช้สำหรับการประกันรายได้ข้าวรอบนี้ จะอยู่ที่กว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะมีผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดทั้งสิ้น 9.51 ล้านตันข้าวเปลือก" นายยรรยง กล่าว

สาเหตุที่ต้องปรับราคาประกันรายได้ชาวนาสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าเช่าที่นาสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตข้าวเจ้าเพิ่มขึ้นมาก จากเดิม 7 พันบาทต่อตัน เป็น 8 พันบาทต่อตัน จึงเชื่อว่าชาวนาสามารถรับราคานี้ได้ ซึ่งรัฐบาลได้มองเห็นความเดือดร้อนของชาวนา

ทั้งนี้ การขยายการปรับเพิ่มปริมาณข้าวที่เข้าร่วมโครงการต่อครัวเรือนและราคา ทำให้รัฐบาลใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะใช้เพียง 1.9 หมื่นล้านบาท เป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาท

“ปริมาณข้าวที่เข้าร่วมจาก 25 ตัน เป็น 30 ตัน ทำให้ครอบคลุมชาวนากว่า 80 %ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงควรเพิ่มปริมาณให้ครอบคลุมโดยเฉพาะชาวนารายย่อยด้วย” นายยรรยง กล่าว

แหล่งข่าวกขช.กล่าวว่าสำหรับต้นทุนการผลิตของชาวนาที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานต่อ กขช.โดยคำนวณล่าสุด ณ เดือนก.พ. พบว่าต้นทุนการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยข้าวเจ้าไปอยู่ที่ 7,850บาทต่อตัน จากปีก่อนต้นทุน 6,567 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 1,283 บาทต่อตัน, ข้าวปทุมธานีต้นทุนอยู่ที่ 7,505 บาทต่อตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 6,343 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 1,162 บาทต่อตันและข้าวเหนียวต้นทุนอยู่ที่ 7,234 บาทต่อตัน จากปีก่อน 7,720 บาทต่อตัน กลับลดลง 486 บาทต่อตัน

ชี้ข้าวเวียดนามกดราคาตลาดต่ำ

นายธราดล เปี่ยมพงศ์ศานต์ รองเลขาธิการนายกฯกล่าวว่า งบประมาณที่จะใช้สำหรับโครงการประกันราคาข้าวนาปรัง หลังจากมีการปรับเปลี่ยนแล้วทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณใช้สำหรับข้าวเจ้า 2.89 หมื่นล้านบาท ข้าวปทุมธานี 1.51 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นข้าวเหนียวและค่าบริหารจัดการ

นอกจากนี้ที่ประชุม กขช. ได้มีการสอบถามสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก ที่ลดลงในช่วงนี้พบว่าเป็นผลมาจากการที่เวียดนามลดค่าเงินด่อง ทำให้ราคาข้าวเวียดนามลดลงจาก 476 ดอลลาร์ต่อตัน ในเดือนก.พ. ลงมาเหลือ 465 ดอลลาร์ต่อตัน ในเดือนมี.ค. ส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิของไทย ลดลงจาก 961 ดอลลาร์ เหลือ 952 ดอลลาร์

ส่วนข้าวขาว 5% ของไทยในเดือนก.พ. อยู่ที่ 538 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงมาเหลือ 516 ดอลลาร์ต่อตัน ในวันที่ 2 มี.ค. หรือลดลง 4.09% ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศ ลดลงมาเหลือ 8,700-9,200 บาทต่อตัน ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงาน กขช. ถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2553 มีการส่งออกทั้งสิ้น 9 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 7 ล้านตันและในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยได้ส่งออกข้าวไปแล้ว1 ล้านตันเชื่อว่าทั้งปีแนวโน้มการส่งออกจะเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกข้าวของรัฐบาลขณะนี้เหลืออยู่ 1.2 ล้านตัน

เผยนายทุนโขกค่าเช่านาเพิ่ม 60%

แหล่งข่าวในที่ประชุม กล่าวว่า ที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วง กรณีการนำงบประมาณมาใช้ในโครงการประกันราคาที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท จะส่งผลให้เป็นภาระผูกพันระยะยาวและส่งผลไปถึงราคาประกันข้าวนาปี ที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

นอกจากนั้นได้มีการรายงานภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก มาจากค่าเช่าที่นาเพิ่มถึง 60% จากไร่ละ 550 บาท เป็นไร่ละ 900 บาท ซึ่งนายกฯ ได้กำชับกระทรวงเกษตรฯให้เข้าไปกวดขันดูแลเรื่องค่าเช่าที่นา ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกร

ชาวนาขานรับราคาประกันใหม่

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบให้ปรับราคารับประกันข้าวขาวจากตันละ 1 หมื่นบาท เป็น 1.1 หมื่นบาท และข้าวปทุมธานีจาก 1.1 หมื่นเป็น 1.15 หมื่นบาทนั้น เป็นราคาที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งในส่วนของข้าวปทุมธานีควรจะปรับให้เป็นตันละ 1.2 หมื่นบาท ตามที่เกษตรกรเรียกร้อง เนื่องจากเป็นข้าวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ต้นทุนการผลิตสูงและโรงสีรับซื้อน้อย แต่เมื่อรัฐบาลเห็นชอบในราคาระดับนี้ก็ยอมรับ

ทั้งนี้ราคาที่ปรับขึ้นดังกล่าว จะไม่ส่งผลให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณในการจ่ายชดเชย แต่จะเป็นผลทางด้านจิตวิทยาให้ระดับราคาในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เกษตรกรจะมีส่วนต่างของกำไรเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

คาดงบแทรกแซงข้าวพุ่ง 5.5 หมื่นล้าน

นายปราโมทย์ วานิชชานนท์ กรรมการ กขช. กล่าวว่า การปรับเพิ่มราคาประกันข้าวและปริมาณ จะทำให้รัฐบาลมีภาระเพิ่มขึ้น 9,000-10,000 ล้านบาท ส่งผลให้วงเงินที่ใช้ในการชดเชยข้าวนาปรังรอบนี้ เพิ่มเป็น 2.9 หมื่นล้านบาทและเมื่อรวมกับเงินที่ใช้ในโครงการประกันรายได้นาปีก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ยอดรวมของการประกันข้าวปีนี้ เพิ่มเป็น 5.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าว ที่ประชุมได้มีการหารือกัน โดยนายกฯ ยืนยันหลักการเดิม ที่จะให้มีการตั้งโต๊ะรับซื้อ กรณีราคาตลาดต่ำกว่าราคาอ้างอิงเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตั้งโต๊ะรับซื้อแต่อย่างใด

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่ามีข้าวในสต็อกรัฐ 1.2 ล้านตัน โดยเป็นการรายงานทางวาจา ส่วนการระบายข้าวที่ประชุมไม่มีการหารือ เนื่องจากเป็นอำนาจของกรรมการระบายข้าวที่จะเสนอให้รองนายกฯและนายกฯอนุมัติ

กขช.เบรกข้าวถุงปรับราคา

นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ราคาข้าวในช่วง 8 -10 เดือน น่าจะยังไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อและผู้ส่งออก 5 ราย ที่ประมูลข้าวได้ 4 ล้านตันกลับขนข้าวส่งออกไปได้ประมาณ 1 ล้านตันเท่านั้น เหลือสต็อกที่ยังต้องขนออกไปอีก 3 ล้านตัน ขณะที่ความสามารถการระบายอยู่ที่ 4 แสนตันต่อเดือนเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการกดดันไม่ให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเพิ่มปริมาณประกันข้าว จาก 25 ตัน เป็น 30 ตัน เนื่องจากกรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกข้าว 40 ไร่ จะมีผลผลิตเฉลี่ย 25 ตัน ซึ่งจะครอบคลุมเกษตรกร 80% แต่หากเพิ่ม 30 ตันต่อครัวเรือน เท่ากับพื้นที่ปลูกข้าว 50 ไร่ ครอบคลุมเกษตรกรถึง 90%

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีกรรมการรายงาน กขช. ทราบว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการแพ็คข้าวถุงขาย กำลังขอปรับเพิ่มราคา ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะราคาข้าวไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นและไทยมีสต็อกข้าวเพียงพอ และเมื่อรวมกับผลผลิตที่มีอยู่ ถือว่ามากพอสมควร ขอให้กระทรวงพาณิชย์อย่าปรับเพิ่มราคาเด็ดขาด ขณะที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯ ระบุว่าหากประชาชนต้องเข้าแถวซื้อข้าว ตนจะขอลาออกจากรัฐมนตรี

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.