นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายนำระบบการรับจำนำข้าวกลับมาใช้นั้น กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เตรียมที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงถึงแนวทางการรับจำนำที่ผ่านมาว่าดำเนินการอย่างไร ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องมีการติดตามและตรวจสอบในทุกขั้นตอนเพื่อป้องกันการทุจริต
ทั้งนี้ กขช.ระดับจังหวัดที่มีอยู่แล้วก็จะต้องกำกับดูแลให้ดีและเข้มข้นขึ้น ส่วนองค์การคลังสินค้า (อคส.) ควรจะมีบุคลากรคอยปฏิบัติหน้าที่สอดส่องในทุกขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างจะไม่กล้าตัดสินใจจึงต้องมีผู้ตรวจเข้าไปช่วยตัดสินใจ นอกจากนี้ การตรวจสอบหลักฐานการขึ้นทะเบียนก็มีความสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวที่จำนำเป็นข้าวของเกษตรกรจริงเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ ตลอดจนการตรวจสอบข้าวของรัฐที่อยู่กับโรงสี ป้องกันการนำข้าวของหลวงออกไปหมุนเวียน
"การรับจำนำข้าวมีทั้งข้อดีและเสีย ส่วนที่ดีคือจะทำให้ราคาข้าวดี เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เกิดการจับจ่ายใช้สอยและเศรษฐกิจหมุนเวียนดี ส่วนผลกระทบต่อราคาข้าวถุงนั้น จากการหารือกับฝ่ายโรงสีระบุว่า ราคาข้าวขายส่งในเขตกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท แต่หากราคาขายส่งปรับขึ้นไป 2 บาทหรืออยู่ที่ 16-17 บาทนั้น จะไม่มีผลกระทบและไม่ทำให้ข้าวถุงขึ้นราคาแต่อย่างใด แต่หากราคาปรับขึ้นไปมากกว่านี้ทางกลุ่มโรงสีก็พร้อมจะผลิตข้าวถุงออกมาจำหน่ายเอง" นางวัชรี กล่าว
ส่วนราคาอาหารสำเร็จรูปนั้นทางปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้กรมวางแนวทางการดูแลอาหารปรุงสำเร็จเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ตลอดจนแนวทางการทำความเข้าใจกับผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ตามกรมไม่สามารถเข้าไปควบคุมราคาอาหารสำเร็จรูปได้ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก จะทำได้ก็แต่การเข้าไปแทรกแซง ช่วยเหลือลดต้นทุนราคาวัตถุดิบให้ ซึ่งขณะนี้กรมยังอยู่ระหว่างการจัดทำเมนูธงฟ้า เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนการจัดทำเว็บไซต์ ที่จะให้เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคถึงร้านขายอาหารสำเร็จรูป
ที่มา คมชัดลึก
|