จากกรณีผู้ส่งออกข้าวและโรงสีแห่กว้านซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาทั่วประเทศมาเก็งกำไรรับช่วงการเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จนส่งผลให้ข้าวเปลือกในหลายพื้นที่หมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ จ.อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และชัยนาท ส่วนจังหวัดอื่นแม้มีข้าวเปลือกเหลือ แต่ก็พบว่าราคาปรับสูงขึ้นจากช่วงก่อนการเลือกตั้งถึงตันละ 1,000-1,500 บาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 8,500-9,500 บาท เพิ่มเป็นตันละ 9,800-10,500 บาท และราคายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ราคาข้าวเปลือก 15% ได้ปรับขึ้นทะลุหลักหมื่นบาทเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และมีแนวโน้มว่าราคาจะเพิ่มขึ้นต่อได้อีกถึง 11,000-12,000 บาท หลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศเตรียมรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด ประกอบกับเข้าสู่ช่วงปลายฤดูข้าวนาปรังซึ่งผลผลิตมีน้อย ทำให้โรงสีและพ่อค้าข้าวเข้ามาแย่งซื้อข้าวจากชาวนา ซึ่งถือเป็นผลดีเพราะชาวนาได้มีทางเลือกในการขายข้าวมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับชดเชยส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้อีก ทำให้รวม ๆ แล้วตอนนี้ชาวนามีรายได้จากการขายข้าวมากกว่าตันละ 11,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตกรพอใจ
นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวต่อว่า แม้การเปิดรับจำนำจะทำให้ราคาข้าวขึ้น แต่เป็นห่วงว่ากลุ่มนายทุนจะมากดราคารับซื้อ และปัญหาลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเข้าโครงการ จนทำให้ชาวนาตัวจริงไม่ได้ประโยชน์ ส่วนระยะยาวเป็นห่วงว่าหากข้าวไทยราคาสูงมากจะไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้ข้าวในประเทศล้นตลาดและราคาตกต่ำ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชั่นตามมาด้วย จึงอยากให้รัฐบาลเตรียมหาแนวทางป้องกันปัญหาเหล่านี้ให้ดี
ด้านนายบุญไทย แก้วขันตี ผู้ช่วยผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หากรัฐบาลจะนำระบบการจำนำมาใช้ ธ.ก.ส.สามารถทำได้ทันที เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้ว แต่ทั้งนี้คงต้องหารือในรายละเอียดก่อนว่า จะทำเฉพาะบางส่วน หรือทั้งหมด เพราะเกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณที่ต้องนำมาใช้ แต่ถ้าจะให้ธ.ก.ส.ดำเนินการแทนไปก่อน รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชยส่วนของดอกเบี้ยที่ควรจะได้รับด้วย
“การเปลี่ยนจากระบบประกันรายได้ เป็นระบบจำนำทั้งหมดนั้น จะทำได้ง่ายขึ้น เพราะ ธ.ก.ส.มีฐานข้อมูลเดิมที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่สิ่งที่ต้องหารือรายละเอียดคือเรื่องเงินทุนที่ใช้ดำเนินโครงการ เพราะระบบจำนำนั้น จะใช้เงินมากกว่าประกันรายได้มาก ขึ้นอยู่กับการกำหนดปริมาณข้าวที่เข้าโครงการ ซึ่งที่ผ่านมายังมีเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายธ.ก.ส.จากการจำนำข้าว 180,000 ล้านบาท ส่วนที่ขาดทุน 80,000-100,000 ล้านบาท รัฐจะทยอยตั้งงบชำระคืน และอีก 100,000 ล้านบาทยังมีข้าวในสต๊อกที่รอขายนำเงินมาชำระหนี้ ส่วนนี้น่าจะเร่งเคลียร์ให้ธ.ก.ส.ก่อน” นายบุญไทย กล่าว
ขณะที่ นายคณวัฒน์ วศินสังวร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานด้านเศรษฐกิจของพรรค กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะไม่กระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการ เพราะไม่ได้ซื้อข้าวจากโรงสี แต่เป็นการซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนา ตรงกันข้ามการกว้านซื้อข้าวในขณะนี้ จะเป็นประโยชน์กับชาวนา ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของรายละเอียดการดำเนินนโยบายนั้น รัฐบาลจะนำบัญชีเกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้ากับ ธกส.อยู่แล้ว รวมถึงข้อมูลของตลาด อตก.ที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาพิจารณา หากเกษตรกรคนใดประสงค์จะเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว ก็จะต้องทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับรัฐบาล จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการออกบัตรเครดิตให้เกษตรกร ซึ่งจะอนุมัติวงเงินที่ร้อยละเจ็ดสิบของรายได้ที่คิดว่าจะได้ หรือเรียกว่าเป็นการเอาข้าวที่จะจำหน่ายมาเป็นหลักประกันในการออกบัตรเครดิตเกษตรกร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการตกเขียวเหมือนในอดีต
“ส่วนเกษตรกรรายใดไม่ใช่ลูกค้า ธกส.และประสงค์จะเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว ก็จะเปิดกว้างให้ลงทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ได้ ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้เอกชนต้องรีบกว้านซื้อข้าว แต่ยืนยันว่าไม่มีประโยชน์หรือไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน เพราะรัฐบาลจะซื้อข้าวจากชาวนา และต้องผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น” นายคณวัฒน์กล่าว.
ที่มา เดลินิวส์
|