น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบแนวทางการทำงานในที่ประชุมร่วมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ว่า การนำเอาระบบจำนำข้าวกลับมาใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม พร้อมฝากให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ดูแล กำกับ ติดตามให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างเคร่งครัด และโปร่งใส มีการตรวจสอบที่ชัดเจน นำเอาประสบการณ์ ข้อดี และ ข้อเสีย ของโครงการรับจำนำเดิมมาปรับใช้ให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลและบริหารจัดการให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการผลิตข้าวให้ได้ผลิตภาพและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ให้ระยะการเพาะปลูกข้าวสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและปริมาณน้ำในการเพาะปลูก เน้นการส่งเสริมมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทย ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สำหรับงานที่สำคัญและเร่งรัดที่สุดของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ในขณะนี้คือการผลักดันให้เริ่มรับจำนำข้าวในวันที่ 7 ตุลาคมนี้
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้างแห่งชาติ(กขช.) ว่า ที่ประชุมมีมติเริ่มรับจำนำข้าวในวันที่ 7 ต.ค.พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ราคาข้าวในแต่ละชนิดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ย.
ทั้งนี้ ในส่วนของราคารับจำนำ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า อยู่ที่ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 25% ตันละ 13,800 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดสั้น 16,000 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดยาว 18,000 บาท ข้าวหอมจังหวัด 18,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 16,000 บาท
สำหรับวิธีการรับจำนำ สำหรับข้าวเปลือกเจ้าจะรับจำนำเฉพาะที่มีใบประทวน ส่วนข้าวหอมและข้าวเหนียวจะพิจารณารับจำนำที่ยุ้งฉาง โดยจะพิจารณาแต่ละในพื้นที่รวมถึงสถานการณ์ราคาข้าวในช่วงเวลานั้น และปริมาณที่เกษตรกรจะมีสิทธิจะต้องได้รับการรับรองพื้นที่เพาะปลูกจากเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยโครงการนี้จะสิ้นสุด 29 ก.พ. 55
นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการภายใต้ กขช. อีก 6 ชุด ประกอบด้วย อนุกรรมการด้านการผลิต มี นายกิตติรัตน์ และนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน, อนุกรรมการด้านการตลาด มีนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์เป็นประธาน, อนุกรรมการติดตามกำกับดูแลรับจำนำระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน, อนุกรรมการดูแลรับจำนำข้าว, อนุกรรมการระบายข้าว อนุกรรมการติดตาม ตรวจสอบ การรับจำนำ ทั้ง 3 ชุดดังกล่าวจะมีนายรมช.พาณิชย์ ดูแล
พร้อมทั้งจะขอความร่วมมือ 4 หน่วยงานส่งผุ้ตรวจราชการมาตรวจสอบการทุจริต ประกอบด้วย จากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี และจะมี ผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ รวมถึงรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มาร่วมในการตรวจสอบด้วย
ในเรื่องของกลไกการเบิกจ่ายงบประมาณจะมีเพียงกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายในที่จะเป็นตัวแทนของทุกหน่วยงานที่จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณแทนหน่วยงานอื่นๆ
นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการรับจำนำข้าวให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและหากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งปฎิเสธว่ารัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะมีการจัดตั้งบริษัทข้าวแห่งชาติ แต่พร้อมจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน และมั่นใจว่าจะมีโรงสีรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกรได้ทุกคน
ที่มา โพสต์ทูเดย์
|