|
"พาณิชย์"อึ้งโรงสีตั้งแง่"รับจำนำข้าว" อ้างสัญญาไม่ชัดหวั่นโดนแบล็กลิสต์
|
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาลวันแรกเมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำงานเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรให้ดีขึ้น และเป็นทางเลือกที่จะนำข้าวเปลือกมาจำนำกับรัฐบาล โดยเฉพาะทางผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมการติดตามการรับจำนำทุกจังหวัดช่วยทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้กระบวนการรับจำนำเป็นไปอย่างถูกต้อง ต้องตรวจสอบทุกระยะ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โปร่งใส และให้ดูแลพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับจังหวัดนนทบุรี และนครสวรรค์ ได้รายงานความเสียหายของนาข้าวจากผลกระทบน้ำท่วมและความคืบหน้าโครงการคือ นครสวรรค์ รายงานนาข้าวเสียหาย 750,000 ไร่ จากทั้งหมด 2.15 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ปลูกข้าว 1.4 ล้านไร่ มีข้าวจำนำได้ 743,000-1 ล้านตัน โดยในวันแรกมีโรงสีในพื้นที่เปิด 9 ราย จาก 25 ราย มีเกษตรกรนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ 25 ราย รายแรกผ่านการตรวจสอบจำนำข้าวได้ 15 ตัน เป็นข้าวเปลือก 5% ความชื้น 21.5% โดยถูกหักความชื้นข้าวเหลือราคาตันละ 13,357 บาท ได้เงินทั้งสิ้น 212,000 บาท
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะกระทรวงต้นทางของโครงการรับจำนำข้าวได้กำหนดนโยบายเข้มงวด โดยให้เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดเฉพาะกิจขึ้นมารับผิดชอบ ขณะนี้รวบรวมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและมีหนังสือรับรองการจำนำข้าวทุกผลิตภัณฑ์ ทั่วประเทศได้แล้ว 3.2 ล้านครัวเรือน
โดยกระทรวงเกษตรฯได้รับรายงานการเปิดรับจำนำวันแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2554 มีโรงสีสมัครเข้าร่วมโครงการกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 219 โรง ผ่านการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการจังหวัดในขั้นสุดท้ายแล้ว 93 โรง ทำสัญญาเรียบร้อย 45 โรง และพร้อมรับจำนำข้าวจากชาวนาทันที 39 โรง คาดการณ์เดือนตุลาคมนี้จะมี ข้าวจำนำ 3-4 ล้านตัน
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีโรงสี ยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการรับจำนำ 688 แห่ง ไม่ถึง 30% ของทั้งหมด 3,000 แห่ง และเซ็นสัญญาเพียง 120 แห่ง โดยโรงสีในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ ทำหนังสือมายังสมาคมให้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ ปรับแก้เงื่อนไขสัญญาให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เช่น อัตราการสีแปร การส่งมอบข้าวต้น และปลายข้าว โดยจะรวบรวมรายละเอียดมาหารือกันในสัปดาห์หน้า
"ตอนนี้โรงสีบางแห่งต้องเปิดเพราะทางจังหวัดขอร้อง แต่ก็กังวลร่างสัญญาไม่ชัดเจน รัฐบาลจะดูแลอย่างไร ไม่ใช่ทำไปร่างไป เมื่อใช้ไม่ได้ก็ต้องออกเอกสารแนบท้ายสัญญา จะทำให้โรงสีกลายเป็นผู้เสียหายแบล็กลิสต์ ตอนนี้หากจุดใดพอทำความเข้าใจกันได้ ก็ให้แก้ไขเสีย ไม่ใช่ข้อต่อรอง เพราะโรงสีทำธุรกิจ ถ้าขาดทุนรับไม่ได้ก็คงจะต้องหยุดรับซื้อ ยังมีสาเหตุอื่นอีกไม่ใช่เรื่องสัญญาอย่างเดียว เช่น บางโรงน้ำท่วม ทางอีสานข้าวจะออกหลัง 20 ต.ค. โรงสีจึงใช้วิธีทยอยเปิด" นายชาญชัย กล่าว
สำหรับร่างสัญญาว่าจ้างระหว่างโรงสีกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่เอกชนประกาศจะไม่เซ็นจนกว่ารัฐจะปรับแก้ไขภายใน 7 วัน ทางโรงสียืนยันว่า กรมการค้าภายในรับข้อตกลงจะไปปรับแก้แต่ไม่ทำ ซึ่งเกรงจะเกิดความไม่เป็นธรรม เช่น โรงสีเสนอให้สีแปรข้าวทุกชนิดทุก 10 วัน อัตรา 100% ที่รับจำนำมา แต่กรมยังไม่ปรับโดยระบุจะให้สีแปรเฉพาะข้าวเจ้า ส่วนข้าวชนิดอื่นจะต้องให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว
ประเด็นอัตราส่งมอบข้าวสีแปรที่กำหนดให้ส่งมอบข้าวต้น (ข้าวสารที่สีแปรได้) ให้รัฐบาล 42% ของปริมาณข้าวเปลือกที่สีแปร เช่น สีแปร 1,000 ก.ก. ส่งเป็นข้าวต้น 420 ก.ก. ที่เหลือจะเป็นปลายข้าวและส่วนอื่น ๆ ที่ได้จากการ สีแปร แต่ในสัญญากลับระบุว่าอาจจะปรับอัตราสีแปรให้สูงขึ้น
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่มีกระแสลักลอบนำข้าวเปลือกจากกัมพูชามาสวมสิทธิ์จำนำในไทย ไม่เชื่อจะเป็นเช่นนั้นได้เพราะรัฐบาลตรวจสอบทุกจุด หากสวมสิทธิ์ในปริมาณน้อยหรือแค่ 1-2 ตัน ไม่คุ้มค่าขนส่ง ขณะนี้ได้เสนอให้ตั้งคณะตรวจสอบระดับชาติ
ส่วนเรื่องสัญญากับโรงสีนั้น กระทรวงจะไม่ปรับแก้ไขร่างอีกแล้ว จะใช้เงื่อนไขเดิมที่ทำกันมาและคาดการณ์โรงสีคงจะเข้าร่วมหมด ช่วงเปิดโครงการรับจำนำเดือนแรกตุลาคมนี้จะทำได้ก่อนใน 29 จังหวัด
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า บรรยากาศการรับจำนำข้าวเปลือกในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันแรกตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 จากโรงสีปูนทรัพย์ ถาวรสมบูรณ์ จ.สุพรรณบุรี เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากเกษตรกรต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม จึงมีการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อนำมาจำนำค่อนข้างมาก และราคาจำนำค่อนข้างสูง อาทิ ข้าวเปลือกเจ้าชนิด 5% ได้รับราคาจำนำข้าวตันละ 11,803 บาท เป็นราคาจำนำที่สูงกว่าราคาขายขาดมาก เมื่อเทียบกับราคาที่โรงสีรับซื้อต่างหาก ซึ่งกำหนดไว้ตันละ 11,000 บาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|
 |
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@thairiceexporters.or.th
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|