นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณากรอบแนวทางประกันภัยพืชผลอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่วานนี้ (10 มี.ค.) มีมติมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางประกันภัยพืชผลในส่วนข้าวและให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าว 57 ล้านไร่ โดยให้เสนอกลับสู่ที่ประชุมภายใน 1 เดือน เพื่อดำเนินการในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ปี 2554/2555
ที่ประชุมวางกรอบเบื้องต้นในการรับประกันภัยข้าว โดยกำหนดเบี้ยประกันภัยที่อัตรา 140 บาทต่อไร่ และหากนาข้าวเสียหายสิ้นเชิงหรือนาล่ม จากภัยธรรมชาติทุกประเภท เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม หรือภัยจากแมลงและศัตรูพืช จะได้รับการชดเชยสินไหมในอัตรา 2 พันบาทต่อไร่ หรือคิดเป็น 70% ของต้นทุนการผลิต เพื่อจะได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนใหม่ ขณะที่สัดส่วนการจ่ายเบี้ยประกันภัย เกษตรกรจะออกเงิน 50 บาทต่อไร่, ธ.ก.ส. สมทบในอัตรา 50 บาทต่อไร่ และรัฐบาลอุดหนุน 40 บาทต่อไร่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการจ่ายสินไหมชดเชย 2 พันบาทต่อไร่นั้น แบ่งเป็นการจ่ายสินไหมของบริษัทประกันภัยในอัตรา 1.4 พันบาทต่อไร่ และที่เหลือ 606 บาทต่อไร่ รัฐบาลจะจ่ายให้ชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการชดเชยความเสียหายกรณีนาข้าวเสียหายสิ้นเชิง
นายธราดล ระบุว่า ที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงกรณีที่ ธ.ก.ส.จะต้องจ่ายเงินสมทบเบี้ยประกันภัยข้าว เพราะหากสมทบในอัตรา 50 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.จะต้องเตรียมวงเงินประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นภาระให้กับธ.ก.ส.และที่ประชุมยังมีความกังวลว่า หากมีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวน้อย จะทำให้เบี้ยประกันสูงขึ้นมาก ขณะที่ลักษณะของการจ่ายสินไหมทดแทนยังไม่จูงใจเกษตรกร เนื่องจากกรณีที่จะได้รับสินไหมทดแทนต้องเป็นกรณีที่นาข้าวเสียหาย 100%
ส่วนบริษัทรับประกันภัยเอกชนเข้าโครงการนั้น สมาคมประกันภัยไทย ระบุ จะหารือกันในสมาคมฯว่ามีบริษัทใดสนใจเข้าร่วมบ้าง แต่หากไม่มีบริษัทประกันภัยเอกชนสนใจหรือสมัครใจเข้าร่วมโครงการ รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนเพื่อบรรเทาความเสียหายทางการเกษตรทำหน้าที่รับประกันภัยข้าวแทน เพราะต้องยอมรับว่าบริษัทประกันภัยเอกชนกังวลว่าอัตราเบี้ยประกันภัย 140 บาทต่อไร่ ถือว่าน้อยมากเทียบกับวงเงินสูงสุดที่ต้องจ่ายสินไหม หากนาข้าวล่มทั้งประเทศที่ 8.03 พันล้านบาท และบริษัทประกันภัยฯไม่สามารถกระจายความเสี่ยง ไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศได้
นายธราดล ระบุว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปี 2554/2555 จะเป็นโครงการนำร่อง โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่มาใช้กำหนดแนวทางการประกันภัย การกำหนดเบี้ยประกันภัย และการจ่ายสินไหมทดแทน แต่ในการปลูกข้าวปีการผลิตถัดไป จะมีการรวบรวมข้อมูลผลผลิตข้าวเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่ว่ามีปริมาณเท่าใด ก่อนกำหนดสินไหมทดแทนเป็นหลายอัตรา เช่น หากนาข้าวเสียหาย 50% จะจ่ายสินไหมเท่าใด เสียหาย 70% จ่ายสินไหมเท่าใด หรือนาข้าวเสียหาย 90% จ่ายสินไหมเท่าใด เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้มีการศึกษาตัวอย่างโครงการรับประกันภัยพืชผล พบว่ากรณีการรับประกันภัยที่ญี่ปุ่นนั้น ผู้จ่ายเบี้ยประกันจะเป็นสมาคมเกษตรกรฯ และที่เหลือรัฐบาลญี่ปุ่นจะจ่ายเงินสมทบ แต่กรณีญี่ปุ่นมีความเสี่ยงไม่มากนัก เพราะพืชผลที่ประกันภัยมีหลากหลาย
ขณะที่การประกันภัยข้าวของอินเดีย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะถูกบังคับให้ต้องจ่ายเบี้ยประกัน หากแหล่งเงินลงทุนมาจากสถาบันการเงินของรัฐ แต่หากเป็นเงินลงทุนส่วนตัว ก็มีสิทธิเลือกเข้าโครงการประกันภัยหรือไม่ก็ได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|