www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ยักษ์ค้าข้าวกำไรนิ่ม 600 ล้าน


นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลประมูลซื้อข้าวนึ่ง 5% จำนวน 200,000 ตันจากผู้ส่งออก เพื่อส่งมอบรัฐบาลบังกลาเทศ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ออกประกาศไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 และให้ผู้ส่งออกที่สนใจยื่นซองเสนอราคาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีผู้ส่งออกยื่นซองเสนอราคา 5 ราย คุณสมบัติผ่านตามเงื่อนไขที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด 2 ราย
 
ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทที่คุณสมบัติผ่านและชนะการประมูลขายข้าวนึ่งให้กับกรมการค้าต่างประเทศ  ได้แก่ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด และบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด  โดยผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการส่งมอบข้าวถึงท่าเรือจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกรายการ เพราะข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ขายให้กับรัฐบาลบังกลาเทศ เป็นการขายรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ในเทอม CER (Cost&Freight) Liner out คือ รวมค่าใช้จ่ายทุกรายการจากประเทศไทยไปยังท่าเรือจิตตะกอง ผู้ชนะเสนอราคาจะมีการจัดส่งมอบข้าวงวดแรกไม่เกินวันที่ 16 เมษายน 2554 และต้องดำเนินการส่งมอบข้าวในปริมาณส่วนที่เหลือให้เสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 นี้

แหล่งข่าววงการค้าข้าว กล่าวว่า สำหรับราคาข้าวนึ่ง 5% ที่บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด และบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด เสนอขายให้กับกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ อยู่ที่ตันละประมาณ 570 กว่าดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาที่ กระทรวงพาณิชย์ขายให้กับรัฐบาลบังกลาเทศ ตันละ 580 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งสองบริษัทได้จัดสรรกัน คือ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด ส่งมอบ 120,000 ตัน บริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด ส่งมอบ 80,000 ตัน

แหล่งข่าวเผยเพิ่มเติมว่า ราคาข้าวนึ่งที่ทั้งสองบริษัทเสนอขายครั้งนี้ ซึ่งเป็นชนิดข้าวนึ่ง 5% ปีการผลิต 2553/54 หรือปี 2554 หรือราคาข้าวนึ่ง ณ ปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันนี้ราคาข้าวนึ่ง 5% ที่ผู้ส่งออกซื้อจากโรงสีข้าวนึ่ง กระสอบละ 1,350 บาท หรือตันละ 13,500 บาท หรือประมาณตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คำนวณที่ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่ราคาที่ผู้ส่งออกทั้งสองราย เสนอขายให้กับกระทรวงพาณิชย์ตันละกว่า 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่ชัดเจนว่ากว่าเท่าไรนั้น หากคิดที่ตันละ 575 ดอลลาร์สหรัฐฯ หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตันละ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับผู้ส่งออกขายได้ราคาจริงตันละ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อข้าวจากโรงสีตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ กำไรตันละ 94 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณข้าวที่ขาย 200,000 ตัน กำไร 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 568.7 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกทั้งสองรายอาจมีความเสี่ยง เพราะการขายครั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศจะชำระเงินค่าข้าวทั้งหมดเป็นเงินบาท เมื่อกรมการค้าต่างประเทศได้รับเงินจากรัฐบาลบังกลาเทศครบถ้วนเต็มจำนวน ซึ่งหลังจากที่ผู้ส่งออกส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลบังกลาเทศครบถ้วนแล้ว รัฐบาลบังกลาเทศจะชำระเงินให้ 95 % ของมูลค่าข้าว หลังจากนั้นจะทำการตรวจสอบความถูกต้อง แล้วจึงชำระส่วนที่เหลืออีก 5 %
 
ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์  ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท กมลกิจกรุ๊ปฯ ผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมเสนอราคาขายข้าวนึ่งด้วย แต่ติดเงื่อนไขประวัติการส่งออกข้าวไปบังกลาเทศย้อนหลัง 3 ปี เพราะบริษัทไม่ได้ทำตลาดข้าวนึ่งบังกลาเทศ ส่วนเงื่อนไขที่มีการส่งมอบข้าวระยะเวลารวดเร็ว ประมาณกลางเดือนเมษายน และจะต้องมีข้าวอยู่ในมือขั้นต่ำ 50,000 ตัน เป็นข้อกำหนดที่ผู้ส่งออกขนาดกลาง ขนาดเล็ก ค่อนข้างลำบาก

ทั้งนี้ เงื่อนไขประมูลซื้อข้าวนึ่ง 5% ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกประกาศโดยกรมการค้าต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ระบุจะซื้อข้าวนึ่ง 5% ปีการผลิต 2553/54 หรือปี 2554 จำนวน 200,000 ตัน ส่งมอบรัฐบาลบังกลาเทศ ในเทอม CER Liner out คุณสมบัติผู้ที่จะเสนอขาย ต้องมีประสบการณ์ส่งออกข้าวนึ่งย้อนหลัง 3 ปี มีประสบการณ์ส่งออกข้าวนึ่งไปบังกลาเทศย้อนหลัง 3 ปี กำหนดให้ผู้ส่งออกยื่นซองเสนอราคาวันที่ 31 มีนาคม 2554 แต่ไม่มีการประกาศรายละเอียด ผู้ส่งออกแต่ละรายเสนอราคาขายให้กระทรวงพาณิชย์เท่าไร และราคาที่กระทรวงขายให้กับบังกลาเทศเท่าไร
 
แหล่งข่าวเปิดเผยถึงความเป็นมาออร์เดอร์ข้าวนึ่งจีทูจีไทย-บังกลาเทศ ปกติประชากรชาวบังกลาเทศ นิยมบริโภคข้าวนึ่ง และซื้อจากประเทศอินเดีย แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อินเดียหยุดส่งออกข้าวนึ่ง การสั่งซื้อข้าวนึ่งของบังกลาเทศ จึงใช้วิธีทั้งเปิดประมูลซื้อเป็นการทั่วไป และซื้อแบบจีทูจี ผู้ส่งออกข้าวของไทย จึงได้เสนอนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เดินทางไปเจรจาขายแบบจีทูจีกับรัฐบาลบังกลาเทศ และได้ออรฺเดอร์มาในที่สุด
 
ส่วนการประมูลซื้อเป็นการทั่วไปของบังกลาเทศ ที่ผ่านมาพ่อค้าทั้งจากอินเดีย เวียดนาม แข่งกันเสนอขาย โดยพ่อค้าของอินเดียคิดว่า รัฐบาลจะเปิดให้ส่งออกข้าวนึ่ง เนื่องจากเวลานี้ข้าวนึ่งอินเดียล้นสต๊อกแล้ว แต่รัฐบาลอินเดียยังไม่อนุญาตให้ส่งออก เพราะหวั่นปัญหาเงินเฟ้อ พ่อค้าอินเดียจึงไม่มีข้าวนึ่งส่งมอบให้กับบังกลาเทศและเบี้ยวส่งมอบ ส่วนเวียดนามได้สั่งซื้อข้าวนึ่งจากไทยไปส่งมอบบังกลาเทศ เพราะจำนวนโรงสีข้าวนึ่งในเวียดนามยังมีไม่มาก แต่คาดว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวนึ่งแข่งกับไทย
  
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวในท้องตลาดช่วงนี้ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะได้เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายรับซื้อปริมาณ 500,000 ตัน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ราคายังไม่ขยับขึ้นเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากผู้ส่งออกยังมีสต๊อกข้าวที่ซื้อจากรัฐบาลแบบลับๆ เมื่อปีที่ผ่านมา และหลายรายขอเลื่อนเวลารับมอบข้าวดังกล่าวออกไปอีกด้วย ประกอบกับราคารับซื้อต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันกล่าวคือราคาตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน15% ตันละ 8,056 บาท ราคาตลาดตันละ 8,400 บาท

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.